ซูดาน – สาธารณรัฐซูดาน เป็นประเทศที่ในอดีตมีพื้นที่มากที่สุดในทวีปแอฟริกา ตั้งอยู่ทางภาคอีสานของทวีป มีเมืองหลวงชื่อคาร์ทูม มีพรมแดนทางทิศเหนือติดกับประเทศอียิปต์ ทิศใต้ติดต่อกับเซาท์ซูดาน ทิศตะวันออกติดกับประเทศเอริเทรียและประเทศเอธิโอเปีย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับทะเลแดง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ทิศตะวันตกติดกับประเทศชาด และทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับประเทศลิเบีย มีพื้นที่ 1,886,068 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 44,909,353 คน
ประเทศซูดานได้รับเอกราชใน พ.ศ.2499 หลังจากที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษร่วมกับอียิปต์ในนาม “คอนโดมิเนียม” ซึ่งแปลว่า “บ้านของคนสองคนที่ไม่เคยเห็นหน้ากัน” อังกฤษปกครองทางตอนเหนือ อียิปต์กุมอำนาจทางวัฒนธรรม แต่ไม่มีใครสนใจดินแดนทางใต้ที่เต็มไปด้วยป่าไม้อันดิบชื้นและชนเผ่าพื้นเมืองที่พูดภาษาคนละภาษากับทางเหนือ เมื่อถึงเวลาจะให้เอกราช การตกลงกันว่าจะให้ใครปกครองจึงกลายเป็นเรื่องเหมือนให้แมวกับสุนัขจับมือกันวางแผนแต่งงาน ผลคือไม่ถึงสองปี รัฐบาลพลเรือนถูกโค่นโดยทหารและการปกครองซูดานก็เปลี่ยนไปเป็นรัฐบาลแบบเผด็จการทหาร
ซูดานนั้นเดิมเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ในภาคเหนือเป็นมุสลิม มีความสัมพันธ์กับโลกอาหรับ และถือว่าตนเองเจริญแล้ว ขณะที่ทางใต้ของประเทศกลับเต็มไปด้วยคริสเตียนและผู้นับถือความเชื่อแบบหมอผีดั้งเดิม เป็นกลุ่มคนที่ชาวเหนือเห็นว่าป่าเถื่อน
สงครามกลางเมืองครั้งแรกระหว่างเหนือกับใต้เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2558 ก่อนที่ซูดานจะได้เอกราชเสียด้วยซ้ำ และมันก็ดำเนินมาอย่างเรื่อยๆ จนถึง พ.ศ.2515 เมื่อมีการลงนามในข้อตกลง “แอดดิสอาบาบา” แต่สงบเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อถึงปี 1983 ประธานาธิบดีนูเมรีย์ผู้เผด็จการทหารคนหนึ่งจากหลายคน ได้ประกาศใช้กฎหมายชารีอะห์ (เป็นกฎหมายทางศาสนาที่เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีศาสนาอิสลามซึ่งอิงตามคัมภีร์ของศาสนาอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์กุรอ่านและหะดีษ ในศัพท์ศาสนาอิสลามชารีอะห์หมายถึงกฎหมายศักดิ์สิทธิ์) ทั่วประเทศ รวมถึงในภาคใต้ที่ไม่มีใครต้องการมันเลย
กฎหมายชารีอะห์นี้ไม่เพียงเป็นการราดน้ำมันลงบนกองไฟเท่านั้น แต่ยังจุดประกายไฟสงครามกลางเมืองครั้งที่สอง ซึ่งยืดเยื้อยาวนานไปอีกยี่สิบปี และคร่าชีวิตผู้คนกว่าสองล้านคน
เมื่อถึง พ.ศ.2532 นายพลโอมาร์ อัล-บาชีร์ ผู้เผด็จการทหารอีกคนหนึ่งได้ทำรัฐประหารขึ้นสู่อำนาจ และปกครองประเทศด้วยมือเหล็กผสมกลิ่นธูปแห่งความเคร่งศาสนา และมวลสารแห่งการคอร์รัปชั่น
บาชีร์ไม่เพียงกดขี่ภาคใต้ด้วยนโยบายศาสนา แต่ยังปล่อยให้กองกำลังติดอาวุธที่รัฐบาลสนับสนุนในดาร์ฟูร์ กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในนามของ “ความมั่นคง” และ “เอกภาพของชาติ” ผู้หญิงถูกข่มขืน เด็กถูกเกณฑ์เป็นทหาร หมู่บ้านถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน องค์การสหประชาชาติจึงต้องประกาศให้ซูดานกลายเป็นชื่อพ้องของคำว่า “นรกบนดิน”
จนในที่สุด ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ก็ได้ออกหมายจับบาชีร์ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เจ้าตัวก็ยังเดินทางไปร่วมประชุมระหว่างประเทศได้เสมอ เพราะชาติอาหรับและแอฟริกาบางประเทศมองว่า ICC เป็นเพียงศาลของชาติตะวันตกเพื่อเอาผิดกับชาติที่มีผู้นำผิวดำและผิวสีเท่านั้น
ใน พ.ศ.2554 คือปีที่ซูดานสูญเสียดินแดนทางใต้ไปอย่างเป็นทางการ ชาวซูดานใต้โหวตแยกตัวเกือบ 99% และประเทศใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้นในชื่อ “สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน” โดยความยินยอมพร้อมใจขององค์การสหประชาชาติ อย่างไรก็ดี การหย่าร้างนี้ก็ไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะดินแดนที่มีน้ำมันมากที่สุดอยู่แถวชายแดน และเกิดข้อพิพาทแทบจะทันทีหลังการแยกตัว มีการยิงกันในสนามบิน ปิดท่อส่งน้ำมัน และทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหาว่าอีกฝ่ายเป็น “ลูกทรพี” แต่ประเทศใหม่ซูดานใต้เองก็ไม่ได้มีโชคดีไปกว่ากันนัก เพราะพอพ้นจากการเป็นทาสเหนือ ก็หันมารบราฆ่าฟันกันเองระหว่างเผ่า “ดิงกา” และ “นูเออร์” แสดงให้เห็นว่าความสามัคคีในชาติแอฟริกานั้นบอบบางยิ่งนัก
ประเทศซูดานและประเทศเซาท์ซูดาน ทวีปแอฟริกากับประเทศซูดานและประเทศเซาท์ซูดาน
เมื่อ พ.ศ.2562 จอมเผด็จการบาชีร์ถูกโค่นล้มโดยขบวนการประชาชนและทหารบางส่วนที่เบื่อหน่ายกับการปกครองเผด็จการ พวกเขาจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อเตรียมเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่ก็ดูเหมือน “คำว่าประชาธิปไตย” ในซูดานจะยังเป็นเพียงเสียงกระซิบในพายุทราย
ใน พ.ศ.2567 นายพลอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮานผู้บัญชาการทหาร และ นายพลฮัมดาน ดากาโล หรือที่รู้จักในนาม “เฮเมตี้” ผู้นำกองกำลัง RSF (Rapid Support Forces) ซึ่งแต่เดิมคือกองกำลังติดอาวุธที่ใช้สู้รบในดาร์ฟูร์ ได้เปิดศึกแย่งอำนาจกันเองในกรุงคาร์ทูม สงครามกลางเมืองอุบัติขึ้นอีกครั้ง คร่าชีวิตประชาชนไปนับหมื่น ชนชั้นกลางพังทลาย เศรษฐกิจล่มสลาย และประเทศก็กลายเป็นซากปรักหักพังอีกหนหนึ่งในประวัติศาสตร์อันเต็มไปด้วยรอยเลือดของคน
ซูดานคือเครื่องเตือนใจของโลกว่า “ประเทศ” กับ “ชาติ” นั้นใช่ว่าจะเป็นสิ่งเดียวกันถึงแม้จะมีรัฐธรรมนูญกี่ฉบับ จะเปลี่ยนผู้นำกี่คน หรือจะมีน้ำมันมากเท่าใด หากประชาชนไม่รู้สึกว่าตนเป็น “พี่น้องร่วมชาติ” แล้วไซร้ บ้านเมืองนั้นก็จะกลายเป็นสมรภูมิตลอดกาล และที่สำคัญที่สุดคือ
“ศาสนาคือยารักษาจิตใจ แต่เมื่อผสมกับการเมือง กลับกลายเป็นยาเบื่อ”
ซูดานคือเหยื่อของการเมืองที่ไร้ศีลธรรม ศาสนาที่ไร้เมตตา และชาตินิยมที่ไร้สติ เป็นบทละครที่แสดงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ท่ามกลางเวทีทรายและเลือด ที่แม้ผู้ชมจะเบื่อ แต่ตัวละครก็ยังต้องแสดงต่อไป เพราะไม่มีใครกล้าลงจากเวที ปัจจุบันซูดานกลายเป็นประเทศที่ขาดความมั่นคงตามดัชนีความเสี่ยงของการเป็นรัฐที่ล้มเหลว เพราะการปกครองแบบเผด็จการทหารและสงครามดาร์ฟูร์
ที่มา : สำนักข่าวมติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 14 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.matichon.co.th/columnists/news_5179223