ถือเป็นเรื่องน่ายินดี รับสงกรานต์ปีใหม่ไทย
โดยเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) ประจำปี 2568 จำนวน 74 รายการ จาก 72 ประเทศ และ 4 องค์กรระหว่างประเทศ
ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ บทบาทของสตรีในประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์สำคัญสำหรับพหุภาคีนิยม
รายการที่ได้ขึ้นทะเบียนใหม่นี้มีเอกสารที่ไทยเป็นประเทศผู้ยื่นเสนอ/ร่วมยื่นเสนอด้วย 3 รายการ
ได้แก่
กําเนิดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) (คลังเอกสารเกี่ยวกับการก่อตั้งอาเซียน, พ.ศ.2510-2519) ประเทศผู้ยื่นเสนอ : อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และไทย
คลังเอกสารนี้บันทึกการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยประเทศสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย
เอกสารชุดนี้ประกอบด้วยปฏิญญาอาเซียน พ.ศ.2510 ซึ่งมีเอกสารที่เป็นข้อความ 16 รายการ รูปถ่าย 1 รายการ ภาพยนตร์ 1 รายการ ไฟล์เสียง 3 รายการ และบันทึกการสัมภาษณ์ประวัติศาสตร์ 12 รายการ คลังเอกสารนี้อธิบายถึงภารกิจการก่อตั้งของอาเซียนที่มุ่งทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมีไมตรีต่อกันและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันจากที่เคยขาดสิ่งนี้ไป
นอกจากนี้ คลังเอกสารนี้ยังเผยให้เห็นหลักฐานว่าประเทศที่มีขนาดค่อนข้างเล็กและเพิ่งได้รับเอกราชก็มีบทบาทของตนเองในการกำหนดทิศทางของการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่สภาพแวดล้อมที่มีสันติภาพและเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
คลังเอกสารนี้ยังเป็นสิ่งที่ใช้อ้างอิงพื้นฐานสำหรับการทูตของอาเซียนเอง ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนาม “วิถีอาเซียน”
ต้นฉบับหนังสือสมุดไทย นันโทปนันทสูตรคำหลวง (22 กรกฎาคม พ.ศ.2279)
ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยจากพุทธศตวรรษที่ 23 เล่มนี้ ทำจากกระดาษข่อยจำนวน 190 หน้า นำเสนอวรรณคดีพุทธศาสนาที่ได้รับการแปลและอธิบายขยายความ โดยกล่าวถึงพระพุทธเจ้าครั้นปราบนันโทปนันทนาคราช
เอกสารโบราณนี้แสดงให้เห็นถึงรูปลักษณ์วรรณกรรมที่ซับซ้อน คุณค่าทางศีลธรรมเหนือกาลเวลา และประเพณีการบันทึกต้นฉบับแบบพหุภาษา สะท้อนให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีมายาวนานหลายศตวรรษ ทั้งในด้านพุทธศาสนา การแปล การรู้หนังสือแบบพหุภาษา และวัฒนธรรมการทำหนังสือสมุดในลักษณะนี้
ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเล่มนี้ได้รับการถอดความและตีพิมพ์เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและเพื่อส่งเสริมการสงวนรักษาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเล่มนี้ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการศึกษาในด้านอักขรวิทยา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะร่วมสมัย และความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาระหว่างประเทศ
เอกสารนี้สามารถเข้าถึงได้ออนไลน์และเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชุมชนชาวพุทธทั่วโลก ชุมชนชาวพุทธและนักดนตรีนานาประเทศได้นำตอนต้นของหนังสือสมุดไทยเล่มนี้มาขับขานในช่วงที่เกิดภัยพิบัติระดับโลก โดยสื่อถึงสารที่เข้าใจได้ทั่วไปเกี่ยวกับความรุ่งโรจน์ ความใจกว้าง และสันติภาพ
พระเจ้าช้างเผือกและคลังเอกสารที่เกี่ยวข้อง
พระเจ้าช้างเผือกเป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2483 โดยดัดแปลงจากนวนิยายภาษาอังกฤษที่มีชื่อเดียวกัน
เป็นภาพยนตร์ขาวดำในระบบ 35 ม.ม. ที่บันทึกเสียงขณะถ่ายทำ อีกทั้งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจของผู้สร้างในการเผยแพร่ภาพยนตร์เรื่องนี้ในระดับนานาชาติ
พระเจ้าช้างเผือกสร้างขึ้นขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะปะทุขึ้น จึงถือเป็นอนุสรณ์ถึงสันติภาพและการทูตที่ส่งเสริมคติแห่งความสามัคคีกลมเกลียว
ในแง่มุมของการเก็บรักษาเอกสารสำคัญ พระเจ้าช้างเผือกเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องเดียวจากยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังคงหลงเหลืออยู่และสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกอันล้ำค่าเกี่ยวกับการบันเทิงในยุคนั้น
ภาพยนตร์เรื่องนี้ผสมผสานการแสดงแบบไทยเดิมเข้ากับภาษาภาพยนตร์ตะวันตกได้อย่างเชี่ยวชาญ
ปัจจุบันมีเอกสารมรดกความทรงจำที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโกแล้ว จำนวน 570 รายการ จาก 72 ประเทศ และ 4 องค์กรระหว่างประเทศ
ในส่วนประเทศไทย มีเอกสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกแล้ว จำนวน 9 รายการ ได้แก่ จารึกวัดโพธิ์, ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง, เอกสารจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองของสยาม พุทธศักราช 2411-2453, ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับ ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ, บันทึกการประชุมของคณะกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และคัมภีร์ใบลาน เรื่องตำนานอุรังคธาตุ
ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก กล่าวว่า มรดกเอกสารคือองค์ประกอบของความทรงจำแห่งโลกที่ทั้งสำคัญและเปราะบาง ยูเนสโกจึงลงทุนในด้านการอนุรักษ์ เช่น ห้องสมุดของชิงเกตตี ประเทศมอริเตเนีย และคลังเอกสารของอามาดู ฮัมปาเต บา ประเทศโกตดิวัวร์ เป็นต้น เราแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และดำรงรักษาทะเบียนมรดกนี้ ซึ่งบันทึกเส้นสายประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอย่างกว้างขวางที่สุด
หลังจากที่มีการประเมินรายการที่ได้รับการเสนอชื่อโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาอิสระระหว่างประเทศ ในบรรดาชุดเอกสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ มีอยู่ 14 รายการที่เป็นมรดกเอกสารทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเสนอชื่อโดยอียิปต์ บันทึกผลงานของโลกอาหรับในด้านดาราศาสตร์ การเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ วัตถุ ท้องฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคลังเอกสารของชาลส์ ดาร์วิน (สหราชอาณาจักร), ฟรีดริช นีทเชอ (เยอรมนี), วิลเฮ็ล์ม ค็อนราท เรินท์เกิน (เยอรมนี) ซึ่งประกอบด้วยภาพถ่ายเอ็กซเรย์ชุดแรกของโลกที่ได้รับการบันทึก และคลังเอกสารของการ์โลส ชากาส (บราซิล) ผู้บุกเบิกการวิจัยทางพยาธิวิทยา
และรายการอื่นๆ ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนรวมถึงชุดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำแห่งความเป็นทาส ฯลฯ
ทั้งนี้ แผนการว่าด้วยความทรงจำแห่งโลกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการสงวนรักษาและการเข้าถึงมรดก เอกสารของมนุษยชาติ มรดกเหล่านี้มักมีความเปราะบางสูง อีกทั้งเสี่ยงต่อภัยพิบัติและการเสื่อมสภาพนอกเหนือจากทะเบียนระดับนานาชาติแล้ว ยูเนสโกยังได้สนับสนุนการจัดตั้งทะเบียนระดับภูมิภาคสำหรับ 4 ภูมิภาคทั่วโลก และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกในกว่า 100 ประเทศ
นอกจากนี้ ยูเนสโกยังช่วยประเทศต่างๆ ในการพัฒนานโยบายด้านการอนุรักษ์ จัดการฝึกกอบรมและมอบเงินทุนให้แก่สถาบันความทรงจำเพื่อแปลงคลังเอกสารให้เป็นดิจิทัล และทำงานร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาเพื่อบูรณาการมรดกเอกสารสำคัญในประวัติศาสตร์ของเราเข้ากับหลักสูตรในโรงเรียน เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะได้รับการถ่ายทอดไปยังคนรุ่นหลัง
ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญ ของไทยและชาวโลก •
ที่มา : สำนักข่าวมติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 5 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_839805