กองพลบัญชาการยั่งยืนที่ 8 แห่งกองทัพสหรัฐฯ ทีมกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ
ใน พ.ศ. 2549 ชุมชนระหว่างประเทศได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงต่อเกาหลีเหนือหลังจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรก มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ มุ่งเน้นไปที่การส่งออกสินค้าหลัก เช่น แร่ธาตุและสิ่งทอ เมื่อเกิดขึ้นควบคู่กับเศรษฐกิจที่จำกัดของเกาหลีเหนือและการขาดแคลนหุ้นส่วนทางการค้า มาตรการคว่ำบาตรนี้ทำให้นายคิม จองอึน ต้องดิ้นรนหาทางเพิ่มรายได้เพื่อรักษารัฐบาลและโครงการนิวเคลียร์ของตน
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเกาหลีเหนือจึงเริ่มหันมาพึ่งพาแหล่งรายได้ที่ผิดกฎหมายมากขึ้น เกาหลีเหนือยังคงทำการค้าขายที่ถูกกฎหมายและผลิตสินค้าหลายประเภท เช่น ยุทโธปกรณ์ เหล็ก ถ่านหิน อาหารทะเล และสินค้าอื่น ๆ ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลต้องพึ่งพาอาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะการขโมยสกุลเงินดิจิทัล ตลอดจนการปลอมแปลงสกุลเงิน การผลิตเมทแอมเฟตามีน และการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานต่างชาติ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเงินและการทหารของเกาหลีเหนือยังคงดำรงอยู่ การขโมยทางไซเบอร์เป็นแหล่งรายได้ในสกุลเงินต่างประเทศประมาณร้อยละ 50 ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ และเป็นแหล่งเงินทุนหลักของโครงการยุทโธปกรณ์
ขีดความสามารถทางไซเบอร์ของเกาหลีเหนือได้รับการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีเหนือได้สั่งสมกลไกสงครามไซเบอร์/สร้างรายได้ ซึ่งมีความสามารถในการปล้นที่มุ่งโจมตีตลาดแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลและธนาคาร ปฏิบัติการเหล่านี้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นฝีมือของแฮกเกอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีเหนือ เช่น กลุ่มลาซารัสรวมถึงการโจมตีแบบภัยคุกคามต่อเนื่องขั้นสูง 38 ทำให้รัฐบาลสามารถหาเงินได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่ามีแฮกเกอร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังไซเบอร์ของเกาหลีเหนืออยู่มากกว่า 8,000 คน
แฮกเกอร์ใช้ยุทธวิธีต่าง ๆ เช่น การสเปียร์ฟิชชิ่งแบบเจาะจงเป้าหมายไปยังพนักงานในอุตสาหกรรมการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล รวมถึงการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในระบบบล็อกเชน การขโมยบิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ของเกาหลีเหนือช่วยให้รัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงระบบการเงินแบบดั้งเดิม ซึ่งทำให้ติดตามและยึดทรัพย์ได้ยากยิ่งขึ้น และยังสามารถแปลงสินทรัพย์ดิจิทัลที่โจรกรรมมาเป็นสกุลเงินต่างประเทศได้อย่างลับ ๆ
องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ประเมินว่าเกาหลีเหนือขโมยสกุลเงินดิจิทัลไปมากกว่า 2.06 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใน พ.ศ. 2565 และ 4.38 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใน พ.ศ. 2567 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 กลุ่มลาซารัสได้โจรกรรมอีเธอเรียมจากแพลตฟอร์ม บายบิต เป็นมูลค่าถึง 5 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยนับเป็นกรณีการขโมยสกุลเงินดิจิทัลครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา รัฐบาลเกาหลีเหนือลักลอบฟอกเงินที่ได้จากการโจรกรรมผ่านเครือข่ายที่ซับซ้อน โดยมีวิธีการคือนำสกุลเงินดิจิทัลมาปะปนกันผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลจำนวนมาก และปกปิดธุรกรรมบนระบบบล็อกเชนผ่านการแลกเปลี่ยนแบบกระจายศูนย์ เพื่อทำให้ยากต่อการระบุปลายทางของเงิน
การแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานเกาหลีเหนือที่ส่งไปทำงานในต่างประเทศ ก็ถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐบาลเช่นกัน เกาหลีเหนือได้ส่งแรงงานหลายหมื่นคนไปทำงานในจีนและรัสเซีย รวมถึงในแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แรงงานเหล่านั้นมักจะทำงานในอุตสาหกรรมการประมง การก่อสร้าง การขุดเหมือง การแปรรูปไม้ และสิ่งทอ โดยต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่โหดร้ายและถูกรัฐบาลเกาหลีเหนือยึดค่าจ้างไปถึงร้อยละ 90
การคว่ำบาตรของยูเอ็นมีข้อเรียกร้องให้ส่งแรงงานเหล่านี้กลับประเทศ ทว่าเกาหลีเหนือกลับใช้เอกสารปลอม บริษัทบังหน้า และกลวิธีหลอกลวงอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดดังกล่าว ประเทศที่จ้างแรงงานชาวเกาหลีเหนือมักจะซ่อนพวกเขาจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ต่างประเทศและหลบซ่อนจากสายตาของสาธารณชน รัฐบาลของนายคิมใช้สกุลเงินต่างประเทศที่ได้จากประชาชนผู้ถูกบังคับใช้แรงงาน เพื่อจัดหาเงินทุนให้กับโครงการทางทหาร รวมถึงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และรักษาการครองอำนาจของตนเอง
จีนยังคงทำการค้ากับเกาหลีเหนือ รวมถึงให้การสนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมายบางอย่างของเกาหลีเหนือด้วย
เศรษฐกิจใต้ดินของเกาหลีเหนือถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชุมชนระหว่างประเทศ เนื่องจากไม่เพียงแต่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการยุทโธปกรณ์ผิดกฎหมายของรัฐบาลนี้ แต่ยังมีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมไซเบอร์ที่สนับสนุนโดยรัฐ
การต่อสู้กับกิจกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องมีการร่วมมือจากหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงการยกระดับความมั่นคงทางไซเบอร์ การบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มงวด การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ การควบคุมสกุลเงินดิจิทัลที่เข้มงวดขึ้น และการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมกับการกดดันทางการทูตอย่างต่อเนื่อง เมื่อขีดความสามารถทางไซเบอร์ของเกาหลีเหนือมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ความท้าทายในการขัดขวางกิจกรรมผิดกฎหมายของรัฐบาลนี้ก็ยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นเช่นกัน
กองบัญชาการสนับสนุนพื้นที่ปฏิบัติการที่ 8 ของกองทัพบกสหรัฐฯ อยู่ในเมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย
ที่มา : ipdefenseforum / วันที่เผยแพร่ 13 พฤษภาคม 2568
Link : https://ipdefenseforum.com/th/2025/05/เศรษฐกิจใต้ดินของเกาหล/