การประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ในฐานะประธานอาเซียน และ มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ภายใต้การอำนวยความสะดวกของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ของไทย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2025 ตามด้วยการประชุมทางออนไลน์ระหว่างอันวาร์และ มาน วิน คาย ถั่น (Mahn Winn Khaing Thann) นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ในวันถัดมา ก่อให้เกิดคำถามสำคัญว่ามันมีความหมายต่อบทบาทในอนาคตของอาเซียนในการแก้ไขวิกฤตการณ์พม่าจริงๆ หรือเป็นแต่เพียงกลยุทธการสร้างข่าว
เนื้อหาการประชุมส่วนใหญ่จะครอบคลุมเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พม่า หลังจากประสบเหตุธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ใกล้สะกายและมัณฑะเลย์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7,300 คน อาคารบ้านเรือนพังเสียหายมากมาย
และอีกประเด็นหนึ่งซึ่งยังไม่มีการลงรายละเอียดคือ กลุ่มอาเซียนต้องการให้มีการเจรจาสันติภาพซึ่งครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อันวาร์ อิบราฮิม
นายกรัฐมนตรีอันวาร์ ในฐานะประธานอาเซียน รู้ดีว่าการพบปะกับ มิน อ่อง หล่าย ซึ่งกลุ่มอาเซียนยังไม่ยอมให้เข้าประชุมด้วยนับแต่นำการรัฐประหารยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี เมื่อปี 2021 จะต้องพบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์แน่นอน ทั้งจากภายในและนอกประชาคมอาเซียน
การเลือกที่จะชูประเด็นเรื่องมนุษยธรรมเป็นการทูตเพื่อช่วยเหลือภัยพิบัติ (disaster diplomacy) เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่วายโดนข้อหาว่าพยายามหาโอกาสสร้างความชอบธรรม นำ มิน อ่อง หล่าย กลับเข้าสู่เวทีนานาชาติ และแผ้วถางทางให้ทหารพม่าสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งซึ่งประกาศว่าจะจัดขึ้นให้ได้ภายในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้
แต่ต่อมาเมื่อนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเปิดเผยต่อสาธารณะว่า เขาได้มีโอกาสประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นรัฐบาลคู่ขนานของฝ่ายค้านที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับสภาบริหารแห่งรัฐโดยตรง ก็ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อยเบาลง ประกอบกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติได้ออกแถลงการณ์ยืนยันการพบปะกันทางออนไลน์ดังกล่าวในวันที่ 18 เมษายน โดยเนื้อหาของการประชุมนั้นได้มุ่งเน้นเรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวเป็นสำคัญและพูดถึงบทบาทของกลุ่มอาเซียนในการแก้ไขปัญหาพม่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้การพบปะระหว่างประธานอาเซียนและผู้นำการรัฐประหารพร้อมด้วยผู้แทนฝ่ายต่อต้านเสียความน่าเชื่อถือไปมาก เห็นจะได้แก่ข้อเรียกร้องของอันวาร์ที่ให้กองทัพพม่าหรือ ‘ตัดมาดอว์’ ขยายเวลาการหยุดยิงที่ประกาศเอาไว้ระหว่างวันที่ 2-22 เมษายน ไม่เป็นผลแต่ประการใดเลย
สหประชาชาติรายงานว่า ความจริงแล้วไม่ได้มีการหยุดยิงอย่างที่ได้ประกาศเอาไว้เลยแม้แต่น้อย เพราะการโจมตีทางอากาศยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในห้วงเวลาดังกล่าว ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ชุมชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
ในทำนองเดียวกัน สื่อมวลชนอิสระ ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่างประเทศหรือสื่อของพม่าเอง รายงานตรงกันว่า หลังการประชุมที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 17 เมษายน ก็ยังมีการโจมตีทางอากาศและการสู้รบในหลายพื้นที่ รวมทั้งในรัฐกะเหรี่ยง รัฐคะเรนนี (คะยา) ใกล้กับชายแดนไทย และรัฐคะฉิ่นทางตอนเหนือของประเทศ แม้แต่พื้นที่ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวอย่างหนัก เช่น ภาคสะกายและมัณฑะเลย์ ก็ไม่เว้น
แน่นอนทีเดียว มีอยู่หลายเหตุการณ์ที่ฝ่ายต่อต้านหรือกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ได้เปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของตัดมาดอว์ก่อน เพื่อชิงความได้เปรียบในสงคราม แย่งชิงพื้นที่ในสถานการณ์ที่ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าก็กำลังประสบความยุ่งยากและได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเช่นกัน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สัญญาที่ไม่เป็นสัญญา และคำร้องขอของอาเซียนที่ได้รับการเพิกเฉยเช่นนั้น ก็ส่งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็รวมถึงสมาชิกทั้งหลายของกลุ่มอาเซียน และอาจจะหมายถึงประธานอาเซียนด้วย เสื่อมศรัทธาและหมดความไว้วางใจสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เฉพาะอย่างยิ่งตัดมาดอว์ ว่าจะยังมีเจตนาดีที่จะสร้างสันติภาพในประเทศของตัวเองกันอยู่อีกหรือไม่
และถ้าหากปรากฏว่าในเร็ววันนี้ มิน อ่อง หล่าย ยังแสดงออกให้เห็นว่าต้องการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งตามแผนเดิมที่ประกาศเอาไว้ก่อนหน้า โดยไม่สนใจที่จะเปิดการเจรจากับฝ่ายต่อต้านตามที่หลายฝ่ายเรียกแต่อย่างใด ผลร้ายจะเกิดขึ้นกับมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนที่ดูเหมือนจะ ‘เสียรู้’ ให้กับ มิน อ่อง หล่าย และผลกระทบต่อกลุ่มอาเซียนโดยรวมคือ จะทำให้สมาชิกของกลุ่มที่ไม่มีความเชื่อถือรัฐบาลทหารพม่าอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ยิ่งผิดหวังในตัวประธานอาเซียนไปด้วย
มิน อ่อง หล่าย
ถ้าหากจะมองในแง่ดีขึ้นมาบ้าง และประธานอาเซียนยังยืนยันในเจตนาเดิมที่ต้องการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมกับพม่า ต่อให้การหยุดยิงยังไม่เกิดขึ้นตามที่ร้องขอก็ตาม กลุ่มอาเซียนอาจจะเรียกร้องอีกครั้งให้มีการหยุดยิงชั่วคราวในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว อย่างเช่น ภาคสะกายและมัณฑะเลย์ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มอาเซียนและนานาชาติสามารถเข้าไปประเมินความเสียหายและส่งมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ หรือช่วยฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย
แต่นั่นก็จะต้องเกิดบนเงื่อนไขที่ว่า ทุกฝ่ายที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นตัดมาดอว์และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) จะต้องเจรจากันถึงเงื่อนไขเงื่อนเวลาในการหยุดยิง ซึ่งการเจรจาเช่นว่านั้นอาจเกิดขึ้นโดยตรงระหว่างฝ่ายต่างๆ หรืออาจมีกลุ่มอาเซียนเป็นตัวกลางช่วยประสานงานทำให้การเจรจานั้นเกิดขึ้นได้ หรือแม้แต่จะเจรจาผ่านอาเซียนในฐานะตัวกลางเพื่อให้เกิดการหยุดยิงก็ย่อมได้
ถ้าทำได้เช่นนั้น ก็จะทำให้เกิดสันติภาพชั่วคราวในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวตามที่ได้ตกลงกัน ซึ่งนั่นไม่เพียงเป็นผลดีต่อประชาชนชาวพม่าเองที่จะได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในเขตปกครองของรัฐบาลทหารหรือเขตที่เป็นฐานที่มั่นของฝ่ายต่อต้าน และกลุ่มอาเซียนเองก็จะได้ความน่าเชื่อถือขึ้นมาบ้าง ในฐานะที่สามารถอำนวยความสะดวกให้เกิดการส่งมอบความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมให้กับผู้ประสบภัยในพม่าได้
ฉากทัศน์ที่ประธานอาเซียนและนานาชาติต้องการดูเหมือนจะมากกว่านั้น แต่ว่ามันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสามารถขยายขอบเขตการหยุดยิงออกไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศและขยายวงการพูดคุยหรือเจรจาไปยังทุกกลุ่มที่กำลังต่อสู้กันอยู่ ให้หันหน้าเข้าหากันเพื่อแก้ไขความขัดแย้งอย่างถาวร พูดง่ายๆ คือ ให้เริ่มสนทนาทางการเมือง ซึ่งก็อาจจะเริ่มต้นจากแผนการในการเลือกตั้ง ว่าควรจะให้มีการบรรลุสัญญาสันติภาพก่อนการเลือกตั้ง หรือจะจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนค่อยเริ่มกระบวนการสันติภาพ เพื่อดูว่าอย่างไหนจะแก้ไขปัญหาพม่าได้อย่างยั่งยืนกว่ากัน
หนทางที่จะไปสู่ฉากทัศน์เช่นว่านั้นดูจะค่อนข้างตีบตันในปัจจุบัน เพราะกว่าจะทำให้ทุกฝ่ายซึ่งยังมีเป้าหมายในการต่อสู้ที่หลากหลาย และมีความได้เปรียบ-เสียเปรียบในพื้นที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง ยอมหยุดยิงโดยที่ยังไม่ต้องวางอาวุธ ก็ดูเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ต้องอาศัยระยะเวลาอย่างมากในการสร้างความไว้วางใจ (trust building) ระหว่างกันให้เกิดขึ้นเสียก่อน ไม่เช่นนั้นสัญญาหยุดยิงจะกลายเป็นสัญญาลมๆ แล้งๆ เหมือนกับที่ผ่านมา ประกาศออกมาได้ แต่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่มีใครเชื่อถือแม้แต่สิ่งที่ตัวเองได้ประกาศออกไปเลย
ต่อให้สามารถหยุดยิงกันได้เหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในห้วงก่อนการรัฐประหาร ก็จะเจอขั้นตอนที่ยากขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง คือกลุ่มต่างๆ ที่จับอาวุธห้ำหั่นกันอยู่ในเวลานี้มีเป้าหมายในการต่อสู้แตกต่างกัน เริ่มจากตัดมาดอว์มีเป้าหมายชัดเจนมากกว่าใครทั้งหมด ว่าต้องการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้ประเทศพม่าด้วยการกำราบให้ฝ่ายต่อต้านอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของตนเอง
ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านนั้นยิ่งมีความต้องการที่หลากหลายมาก บางกลุ่ม เช่น รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ต้องการสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตย กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มต้องการสมาพันธรัฐ แต่ไม่ต้องการประชาธิปไตยแบบพหุนิยม หมายความว่าพวกเขาต้องการอำนาจเบ็ดเสร็จในรัฐหรือภาคของตัวเอง ไม่ต้องการให้มีการเมืองแบบพหุนิยมเกิดขึ้นในพื้นที่ ยังไม่นับว่าบางกลุ่มต้องการที่จะอยู่แบบบุพกาลแบบสังคมชนเผ่าอย่างที่เป็นอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต้องการมีกองกำลังเอาไว้คุ้มครองตนเองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่มีความชอบธรรม เช่น ยาเสพติด บริการทางเพศ คอลเซ็นเตอร์ และค้ามนุษย์ เป็นต้น
ถึงตอนนี้อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะทำนายได้ว่าผลจากการประชุมที่กรุงเทพฯ ในช่วงหลังสงกรานต์ที่ผ่านมาจะออกมาในรูปแบบใด แต่ถ้าหากว่าภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยิง หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดส่งสัญญาณออกมาว่าต้องการที่จะหยุดยิงและเปิดการเจรจา ก็หมายความว่าความพยายามของประธานอาเซียนล้มเหลว