
แม้เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเนปาล ล่วงเลยมาแล้วนานถึง 10 ปี แต่บ้านของนายราม บาฮาดูร์ นาการ์มี ยังคงมีร่องรอยความเสียหายที่มองเห็นได้ และทุกคนต่างกลัวว่า แผ่นดินไหวอาจเกิดขึ้นอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2558 พื้นดินใต้เนปาลเกิดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 9,000 ราย ผู้บาดเจ็บมากกว่า 22,000 คน และชาวเนปาลกลายเป็นคนไร้บ้านอีกหลายล้านคน อีกทั้งอนุสรณ์สถานหลายแห่งก็กลายเป็นซากปรักหักพัง
บ้านสี่ชั้นของนาการ์มี ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองภักตปุระ ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวเช่นกัน แต่ข้อจำกัดทางเงินทำให้เขาไม่สามารถสร้างบ้านใหม่ได้ และต้องจำใจอาศัยอยู่ในบ้านที่มีรอยแตก
อนึ่ง ผลที่ตามมาจากเหตุแผ่นดินไหว เผยให้เห็นรอยร้าวลึกในระบบการตอบสนองต่อภัยพิบัติของเนปาล และความพยายามในการฟื้นฟูบูรณะในตอนแรก ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ระบบราชการ และความสับสน อย่างไรก็ตาม เนปาลมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ บ้านเรือนที่ถูกทำลายเกือบ 90% ได้รับการสร้างใหม่ ซึ่งรวมถึงโรงเรียน สถาบันสุขภาพ และอาคารสาธารณะอีกหลายพันแห่ง ขณะที่วัดวาอาราม และสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม ก็กลับมาตั้งตระหง่านอีกครั้ง
การประเมินร่วมของเขตที่ได้รับผลกระทบ โดยสมาคมเทคโนโลยีแผ่นดินไหวแห่งชาติเนปาล หรือ “เอ็นเซต” (NSET) และมูลนิธิโกลบอล เอิร์ทเควก โมเดล (จีอีเอ็ม) แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงที่เห็นได้ชัด สำหรับความสามารถในการรับมือเมื่อเผชิญกับแผ่นดินไหวอีกครั้ง
“ในช่วงปีแรก ๆ เรามุ่งเน้นไปที่การสร้างใหม่ แต่ในตอนนี้ เราควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบเมื่อปี 2558 แต่เสี่ยงต่อเหตุแผ่นดินไหว และเราต้องขยายขอบเขตบทเรียนที่ได้จากแผ่นดินไหว ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ” นายดิเนศ ปราสาด ภัท หัวหน้าสำนักงานลดความเสี่ยงและจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ (เอ็นดีอาร์อาร์เอ็มเอ) กล่าว
กระนั้น ผู้สันทัดกรณีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า เนปาลเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวครั้งต่อไปแล้วหรือไม่ โดยชี้ให้เห็นว่า กรุงกาฐมาณฑุมีจำนวนอาคารที่ได้รับการเสริมความแข็งแรงมากขึ้น แต่พื้นที่ชนบท ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนแอกว่า และการเข้าถึงทรัพยากรที่จำกัด ยังมีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติรุนแรงเช่นนี้
จากการประเมินความสมบูรณ์ของอาคารโรงเรียน ศูนย์สุขภาพ และสำนักงานรัฐบาลเกือบ 29,000 แห่งทั่วเนปาล โดยเอ็นดีอาร์อาร์เอ็มเอ เมื่อปี 2566 พบว่ามีโครงสร้างเพียง 9.4% เท่านั้น ที่มีความปลอดภัย
ด้านนายเดวิด ซิสเลน ผู้อำนวยการธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำเนปาล กล่าวว่า แม้เนปาลมีนโยบายและกรอบการทำงานทางสถาบันที่ดีขึ้น แต่ประเทศแห่งนี้ยังไม่มีการเตรียมพร้อมในระดับที่น่าพอใจ เพื่อรับมือกับภัยพิบัติครั้งใหญ่
“หากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และไม่นำมาตรการลดความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบมาใช้ ผลกระทบทางกายภาพของความเสี่ยง จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้คน บริการ และทรัพย์สิน ตกอยู่ในความเสี่ยง” ซิสเลน กล่าวทิ้งท้าย.
เลนซ์ซูม
ที่มา : สำนักข่าวเดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 16 พฤษภาคม 2568
Link :https://www.dailynews.co.th/articles/4709390/