ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ประกาศ “วันอิสรภาพทางเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา ด้วยการกำหนดมาตรการภาษีพื้นฐานเพิ่มอีก 10% กับสินค้าจากทั่วโลกซึ่งส่งออกมายังอเมริกา โดยมีผลในวันที่ 5 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น
ขณะเดียวกัน ทรัมป์ยังประกาศมาตรการภาษีต่างตอบแทน กับกลุ่มประเทศและภูมิภาค ซึ่งได้ดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุดราว 60 แห่ง โดยจะใช้อัตราอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง กับอัตราภาษีที่ประเทศนั้นตั้งไว้กับสินค้าของสหรัฐ หมายความว่า แต่ละประเทศจะเผชิญกับอัตราภาษีมากน้อยแตกต่างกันไป มาตรการดังกล่าวจะมีผลในวันที่ 9 เม.ย
ทั้งนี้ ทรัมป์กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศและระเบียบปฏิบัติทางเศรษฐกิจ ของบรรดาประเทศคู่ค้าและภูมิภาคที่มีต่อสหรัฐ “ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศ” และสหรัฐตัดสินใจประกาศมาตรการกำแพงภาษีครั้งใหญ่ครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสหรัฐ บนเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพื่อปกป้องแรงงานชาวอเมริกันในทุกภาคส่วน
สำหรับมาตรการภาษีต่าตอบแทนที่สหรัฐประกาศออกมา ซึ่งน่าจะรวมภาษีพื้นฐานอีก 10% เข้าไปด้วยแล้วนั้น ไม่มีประเทศแห่งใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถรอดพ้นจากมาตรการดังกล่าว โดยกัมพูชาเผชิญกับอัตราภาษี 49% ลาว 48% เวียดนาม 46% เมียนมา 44% แม้อยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤติจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ไทย 36% อินโดนีเซีย 32% บรูไน 24% มาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 17% สิงคโปร์ 10% และติมอร์-เลสเต หรือ ติมอร์ตะวันออก 10%
รายชื่อส่วนหนึ่งของประเทศซึ่งต้องเผชิญกับมาตรการภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐ มีไทยรวมอยู่ด้วย
อนึ่ง ผู้นำสหรัฐอ้างด้วยว่า การคำนวณอัตราภาษีตอบโต้สำหรับแต่ละประเทศนั้น อยู่บนพื้นฐานของอัตราเงินเฟ้อ และกำแพงภาษีที่แต่ละประเทศใช้กับสินค้าของสหรัฐ โดยรัฐบาลวอชิงตันกล่าวหาว่า เวียดนามตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าของสหรัฐ ในอัตราสูงถึง 90% ไทย 72% อินโดนีเซีย 63% และมาเลเซีย 47% ทว่าผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า อัตราเหล่านี้ “ไม่น่าเป็นความจริง”
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า มาตรการภาษีของทรัมป์นั้น “เน้นไปในทางการเมืองมากกว่าการค้า” โดยฉพาะอย่างยิ่งกับจีน ซึ่งเผชิญกับอัตราภาษีต่างตอบแทน 34% แต่เมื่อทบกับอัตราภาษีเดิมอีก 20% จะเท่ากับว่า จีนจะเผชิญกับอัตราภาษีสูงถึง 54%
แน่นอนว่า จีนประณามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์ในกรุงปักกิ่งกล่าวว่า การกำหนดภาษีลักษณะนี้ “ไม่สอดคล้องอย่างสิ้นเชิง” กับแนวทางขององค์การการค้าโลก ( ดับเบิลยูทีโอ ) มาตรการของสหรัฐมีแต่จะยิ่งบ่อนทำลายกลไกการค้าระหว่างประเทศ สั่นคลอนสิทธิอันชอบธรรม และผลประโยชน์ทางการค้าของทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เกี่ยวกับการใช้มาตรการภาษีต่างตอบแทน กับกลุ่มประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐ
ขณะเดียวกัน แถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์จีน ยังประณามสหรัฐ “ยังไม่เลิกใช้มาตรการข่มเหงรังแกฝ่ายเดียว” กับนานาประเทศ รัฐบาลปักกิ่งขอเรียกร้องให้รัฐบาลวอชิงตัน ยกเลิกมาตรการดังกล่าว “ทันที” เพื่อรักษาการพัฒนาและเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นความร่วมมือในระดับพหุภาคี การที่สหรัฐอ้างว่า “เสียเปรียบมานาน” หรือขาดดุลทางการค้ามานาน “ไม่สมเหตุสมผล” และขอให้มีการเจรจา
นอกจากนี้ เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า ประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “พิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดแล้ว” ว่ามาตรการภาษีของสหรัฐ “ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของอเมริกาเองได้” สงครามการค้าไม่เคยมีผู้ชนะ การกีดกันทางการค้าไม่เคยสร้างประโยชน์ให้กับฝ่ายใด
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งทิ้งท้ายว่า จีนพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อตอบโต้ความม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์และสิทธิอันชอบธรรมทางการค้าของจีน
กลับมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลอย่างเป็นทางการของสหรัฐระบุว่า เวียดนามมีมูลค่าการค้าเกินดุลกับสหรัฐ 123,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 4.2 ล้านล้านบาท ) เมื่อปี 2567 เพิ่มขึ้นเกือบ 25% จากปีก่อนหน้า ถือว่าเวียดนามเป็นประเทศซึ่งได้เปรียบทางการค้าต่อสหรัฐ มากเป็นอันดับสามของโลก รองจากจีนและเม็กซิโก กำแพงภาษีต่างตอบแทนที่เวียดนามต้องเผชิญนั้น มีแนวโน้มสั่นคลอนการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมกับสหรัฐ ซึ่งทั้งสองประเทศลงนามร่วมกัน เมื่อปี 2566
ทั้งนี้ทั้งนั้น นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า สหรัฐอาจเจตนา “หยั่งเชิง” เนื่องจากการประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นาน ก่อนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน มีกำหนดเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ภายในเดือนเม.ย. นี้ด้วย และการที่รัฐบาลวอชิงตันประกาศมาตรการภาษีตอบโต้กับจีน ทบต้นจากอัตราภาษีเดิมที่เคยเก็บไป “เป็นการเดิมพันที่สูงมาก” ทั้งในทางภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์ ของสหรัฐที่มีต่อจีน เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งนำเสนอภาพลักษณ์ของตัวเอง ในฐานะ “พันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มั่นคงกว่าสหรัฐ”
เนื่องจากอีกหนึ่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความเป็นมิตรกับจีนอย่างชัดเจน คือกัมพูชา กำแพงภาษีต่างตอบแทนสูงลิ่ว 49% จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอนกับอุตสาหกรรมการส่งออกของประเทศ ซึ่ง 37% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดเมื่อปีที่แล้ว เข้าสู่ตลาดอเมริกา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,910 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 339,813 ล้านบาท ) คิดเป็นสัดส่วนราว 37% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม หากมองในอีกมุมหนึ่ง การกำหนดอัตราภาษีต่างตอบแทนในระดับสูงลิบลิ่วขนาดนี้ น่าจะเป็นเจตนาของสหรัฐ ในการประเมินท่าทีของแต่ละประเทศ และเป็นการส่งสัญญาณ การพร้อมเปิดประตูเจรจา “เพื่อกำหนดข้อแลกเปลี่ยนใหม่” ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันอยู่ในฐานะที่สามารถใช้อิทธิพลที่เหนือกว่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กดดันอีกฝ่ายให้ยอมรับและปฏิบัติตามสิ่งที่สหรัฐต้องการ อีกทั้งเพื่อกลับมาสร้างเสริมอิทธิพลทางเศรษฐกิจให้แก่ตัวเองอีกครั้ง.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP
————————————————————————————————–
ที่มา : dailynews / วันที่เผยแพร่ 6 เมษายน 2568
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4576243/