ปภ.ดีเดย์ 2 พ.ค.นี้เทส Cell Broadcast โดยแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านมือถือ 3 ราย ส่วนกสทช. เร่งทบทวนกฎหมาย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรองรับการแจ้งเตือนผ่านทีวีดิจิทัล 14 พ.ค. นี้
หลังจากยืดเยื้อมานาน และเป็นประเด็นที่สังคมพูดถึงกันมานานหลายปีว่าเมื่อไร ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcast) ที่ประเทศไทยยังไม่มีการใช้งานเสียที แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยได้ข้อสรุปแล้วถึงระบบเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งระหว่างรอทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ทำระบบ Cell Broadcast แล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะเป็นผู้ให้บริการระบบแบบเสมือนไปก่อน
ดังนั้น การแจ้งเตือนภัยจำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อระบบกันทุกช่องทาง หากระบบใด ระบบหนึ่งล่ม ดังนั้น การแจ้งเตือนภัยผ่านทีวีดิจิทัล และ วิทยุกระจายเสียง ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ
โดย สำนักงาน กสทช.ได้ร่วมกับ ผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ได้ทำการทดสอบ Cell Broadcast ในระหว่างที่รอระบบ Cell Broadcast Entity หรือ CBE จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ยังดำเนินการไม่เสร็จโดยหารือผู้ให้บริการมือถือในการพัฒนาระบบ CBE เสมือนจริง เพื่อใช้เตือนภัยให้กับประชาชนได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นในระหว่างนี้ โดยทาง 3 ค่ายมือถือ คือ เอไอเอส , ทรู และเอ็นที ยืนยันว่ามีความพร้อมแล้ว
สำหรับรูปแบบการส่งข้อความเตือนภัยในปัจจุบัน แบ่งดังนี้ 1. กรณีภัยพิบัติประเภทแผ่นดินไหว จะมีการส่งข้อความแจ้งเตือนโดยกรมอุตุนิยมวิทยา และ ปภ. โดยไม่ต้องผ่านสำนักงาน กสทช. และ 2. กรณีภัยประเภทอื่น ๆ เช่น อุทุกภัย หรือวาตภัย ปภ.จะเป็นหน่วยงานที่แจ้งให้ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายโดยตรง เพื่อส่งข้อความแจ้งเตือนประชาชนด้วยตนเอง
กรณีโทรศัพท์มือถือที่จะไม่ได้รับการแจ้งเตือน Cell Broadcast คือ 1. ปิดเครื่อง 2. โทรศัพท์เป็นรุ่นที่เชื่อมต่อ 2G หรือ 3G กรณีนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะใช้วิธีส่ง SMS แจ้งเตือนให้แก่ผู้ใช้งาน ปัจจุบันเอไอเอส มีผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ประมาณ 1.6 ล้านเบอร์ และทรู มีผู้ใช้ประมาณ 900,000 เบอร์ โดยทางค่ายมือถือยืนยันว่าสามารถส่ง SMS ได้ 30 ล้านเบอร์ใน 1 ชั่วโมง 3. ใช้ Wi-Fi (ไม่ใช้ซิมการ์ด) และ 4. เปิดใช้ Airplane mode
ขณะเดียวกัน สำหรับมือถือระบบแอนดรอยด์ จะใช้ได้ตั้งแต่ เวอร์ชัน 12 ขึ้นไป ส่วนระบบไอโอเอสใช้ได้ในเวอร์ชั่น iOS 18 รุ่นที่ไม่สามารถรับ CBS ได้ คือ iPhone X หรือ ไอโฟน 10 ลงมา ที่ยังอัปเดต iOS 18 ไม่ได้ โดยจะได้รับ SMS แจ้งแทนเหมือน มือถือระบบ 2G และ 3G โดย ปภ. จะเป็นผู้กำหนดการส่งข้อความแจ้งเตือน พร้อมระบุพื้นที่โลเคชั่น และจังหวัดที่จะส่ง มายังโอเปอเรเตอร์ โดยใช้ SMS Sender Name เป็น DDPM ย่อมาจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่วน TMD ย่อมาจาก กรมอุตุนิยมวิทยา
ล่าสุด 3 ค่ายมือถือยังได้ร่วมกับ ปภ. กำหนดวันทดสอบส่งข้อความแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast ใน 3 ระดับ ในวันที่ 2 , 7 และ 13 พ.ค.68 ซึ่งผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตามแผนการทดสอบนี้ จะได้รับข้อความทดสอบการแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือทั้งรูปแบบเสียงเตือนและข้อความบนหน้าจอ
โดยประชาชนในบริเวณพื้นที่ทดสอบดังกล่าวจะได้ยินเสียงดังแจ้งเตือนจากโทรศัพท์มือถือ พร้อมข้อความต่อไปนี้ “ทดสอบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โปรดอย่าตื่นตระหนก This is a test message from Department of Disaster Prevention and Mitigation (DDPM). No action required.”
อย่างไรก็ตาม การแจ้งเตือนภัยจำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อระบบกันทุกช่องทาง หากระบบใดระบบหนึ่งล่ม ดังนั้น การแจ้งเตือนภัยผ่านทีวีดิจิทัล และ วิทยุกระจายเสียง ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ
นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ และ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญกรรมการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมของระบบการสื่อสารผ่านวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ รวมทั้งแนวทางในการปฏิบัติของผู้ประกอบการในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน
ภายหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งมีจุดศูนย์กลางบริเวณเมืองมัณฑะเลย์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายพื้นที่
เตรียมทดสอบระบบปิดแจ้งเตือนผ่านทีวีดิจิทัล 14 พ.ค.นี้
นางสาวพิรงรอง กล่าวว่า นอกจากเร่งรัดให้มีระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcasting System Mobile Alert System) แล้ว กสทช. และสำนักงาน กสทช. ปภ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการสื่อสารแจ้งเหตุภัยพิบัติผ่านช่องทีวีดิจิตอลได้อย่างรวดเร็ว และบูรณาการการให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชนผ่านหลากหลายช่องทาง
โดยสอดคล้องตามที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อสาธารณะในช่วงเกิดเหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติรุนแรงให้เชื่อมโยงสัญญาณจากแม่ข่ายคือโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทรท.) หรือกรณีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง การแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ ให้ถ่ายทอดสดโดยสถานีโทรทัศน์ ช่อง NBT กรมประชาสัมพันธ์ และ สถานีโทรทัศน์อื่นๆ สามารถเชื่อมสัญญาณหรือนำเนื้อหาไปเผยแพร่ต่อได้ตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการพัฒนาช่องทางในการแจ้งเตือนภัยพิบัติเพิ่มเติม โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล (มักซ์) เพื่อให้มักซ์สามารถเป็นจุดรวมในการแจ้งเตือนภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินผ่านช่องทีวีดิจิตอลได้อย่างทันท่วงที และสามารถกำหนดพื้นที่แจ้งเหตุได้ตามพื้นที่ให้บริการซึ่งเกิดเหตุภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อศึกษาและเตรียมการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน (Emergency Warning System: EWS) ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล
อีกทั้งยังอำนวยการให้มีช่องโทรทัศน์ระดับชาติซึ่งมีหน้าที่แจ้งเตือนภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินทั้งในลักษณะทดลองออกอากาศเพื่อนำไปสู่การให้อนุญาตกับหน่วยงานที่มีความพร้อม และคำนึงถึงภารกิจและวัตถุประสงค์ของหน่วยงานที่ขอรับใบอนุญาตเป็นสำคัญ
ในส่วนของ EWS จะมีการทดลองทดสอบแจ้งเตือนภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน โดยเป็นระบบปิดบนโครงข่ายเสมือน ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกภายใน 14 พ.ค. 2568
ตอนนี้ทุกฝ่ายก็เห็นพ้องถึงความสำคัญของการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างทันท่วงทีผ่านช่องทางที่หลากหลาย และได้ตกลงกันถึงแนวทางและขั้นตอนตั้งแต่การกำหนดเนื้อหาไปจนถึงวิธีการเผยแพร่ การทดลองทดสอบจะทำให้มองเห็นทั้งความพร้อม ศักยภาพ และปัญหา อันจะทำให้สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาระบบการแจ้งเตือนและให้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ได้ดียิ่งขึ้น
กรมประชาสัมพันธ์พร้อมเป็นแม่งานประสานวิทยุทั่วประเทศ
สำหรับด้านกิจการกระจายเสียง กสทช. ธนพันธุ์ ได้ถอดบทเรียนการดำเนินงานทั้งของสำนักงาน กสทช.และผู้ประกอบการด้านกิจการกระจายเสียง พบว่า กสทช.ได้เคยออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 แล้ว โดยผู้ประกอบการต้องร่วมมือและออกอากาศเมื่อรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องร้องขอ
อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญในประกาศฯ กำหนดเพียงให้ผู้ประกอบการต้องจัดทำแผนขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ในการออกอากาศและแจ้งรายชื่อผู้ประสานงาน ให้สำนักงาน กสทช. เป็นประจำทุกปี โดยประกาศฯ ดังกล่าวยังขาดวิธีปฏิบัติในการเชื่อมสัญญาณข่าวที่จะต้องออกอากาศ รวมทั้งความไม่ชัดเจนของภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินตลอดจนหน่วยงานที่มีหน้าที่กลั่นกรองและแจ้งข่าวดังกล่าว
เมื่อปัจจุบันรัฐบาลได้มอบหมายให้ ปภ. เป็นหน่วยงานหลักในการออกข้อความแจ้งเตือนไปยังประชาชนจึงมีความชัดเจนถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่กลั่นกรองและแจ้งข่าว รวมทั้งได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือผ่านระบบ Cell Broadcast แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากสัญญาณเครือข่ายมือถือล่มใช้งานไม่ได้ ประชาชนก็จะไม่ได้รับข่าวดังกล่าว จึงสมควรที่จะดำรงไว้ซึ่งสื่อกระจายเสียงให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อให้ประชาชนสามารถรับข่าวกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งตามกลุ่มเป้าหมายระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ เช่นกัน
เบื้องต้นได้มีการประชุมหารือต่อแนวปฏิบัติเพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายเชื่อมสัญญาณเสียงจากกรมประชาสัมพันธ์กรณีได้รับคำสั่งและข่าวสารจาก ปภ. โดยตรง เพื่อแจ้งข่าวสู่กลุ่มเป้าหมายในระดับใด
ปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์มีความพร้อมในการแจ้งข่าวพร้อมกันภายใต้เครือข่ายตนเองจำนวน 104 สถานี (FM 79 สถานี และ AM 25 สถานี)
อย่างไรก็ตาม ด้วยขีดจำกัดของเทคโนโลยีอนาล็อกทำให้ไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่หรือกำหนดเป้าหมายพื้นที่ได้ จึงได้กำหนดแนวทางดำเนินการในระยะสั้น กลาง และยาว ดังนี้
•ระยะสั้น: เชื่อมสัญญาณข่าวจากการกระจายเสียงโดยตรงจากสถานีที่ใช้แจ้งเตือนภัย 5 สถานี AM หลัก (ภาคกลาง 1467 kHz ภาคอีสาน 621 kHz ภาคเหนือ 549 kHz ภาคใต้ 1242 kHz และ กรุงเทพฯ 891 kHz) ที่ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศแต่อาจจะมีคุณภาพเสียงไม่ชัดเจน หรือจากสถานีอื่นที่รับสัญญาณในพื้นที่ นั้นได้แล้วแต่กรณี เพื่อแจ้งข่าวต่อไป
•ระยะกลาง: เชื่อมสัญญาณข่าวจากสัญญาณดาวเทียมที่กรมประชาสัมพันธ์ได้มีการส่งสัญญาณไปสู่เครือข่ายของตนเองอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการรายอื่นต้องมีอุปกรณ์ที่รับสัญญาณดาวเทียมเพิ่มเติม รวมทั้งพัฒนาระบบการกำหนดเป้าหมายพื้นที่แบบอัตโนมัติที่กำหนดรหัสการรับสัญญาณแต่ละสถานี ซึ่งจะตัดปัญหาในเรื่องการรับสัญญาณให้มีความเสถียรและครอบคลุมได้ทั่วประเทศจากแผนระยะสั้น
•ระยะยาว: พัฒนาโครงข่ายวิทยุดิจิทัลในระบบ DAB+ ซึ่งจะเป็นการกระจายเสียงที่สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ เช่นเดียวกับสัญญาณมือถือ รวมทั้งมีขีดความสามารถในการส่งข้อความสั้นหรือรูปภาพและการตัดสัญญาณเสียงได้ทันทีกรณีที่ต้องการแจ้งข่าวด่วนหรือรูปภาพไปยังเครื่องรับวิทยุ เพื่อเป็นโครงข่ายสำรองกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน
ดังนั้น ช่องทางการแจ้งเตือนภัยทางด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์ยังมีความจำเป็นและต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยสำนักงาน กสทช.จะดำเนินการเร่งรัดจัดทำคู่มือการปฏิบัติให้ผู้ประกอบการได้ดำเนินการให้ถูกต้องชัดเจนในแผนระยะสั้น และประกาศที่เกี่ยวข้องตามแผน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนยิ่งขึ้นต่อไป
————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 27 เมษายน 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1177791