เปิดขั้นตอน เลือกผู้สืบทอดตำแหน่ง ‘พระสันตะปาปา’ พระองค์ใหม่
หลังสำนักวาติกันประกาศการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 21 เมษายน คริสตจักรโรมันคาทอลิกก็ได้เริ่มต้นพิธีกรรมอันซับซ้อนที่มีมาอย่างยาวนาน เพื่อแสดงถึงการสิ้นสุดยุคสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์หนึ่ง ที่จะนำไปสู่การเริ่มต้นการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งพระองค์ต่อไป
ส่วนใหญ่ของกระบวนการต่างๆ ได้รับการกำหนดไว้ในธรรมนูญที่เรียกว่า Universi Dominici Gregis (Of the Lord’s Whole Flock) ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ในปี ค.ศ. 1996 และได้รับการแก้ไขโดยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ในปี 2007 และ 2013
พระคาร์ดินัลผู้ทำหน้าที่ดูแลกิจการของพระศาสนจักรระหว่างที่ไม่มีพระสันตะปาปา เรียกว่า “คาเมอร์เลงโก” ปัจจุบันคือพระคาร์ดินัลเควิน แฟร์เรลล์ ชาวไอริช-อเมริกัน ซึ่งจะรับหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ซึ่งมีสมาชิกเกือบ 1.4 พันล้านคน ในช่วงที่เรียกว่า “sede vacante” ที่แปลว่า “เก้าอี้ว่าง”
คาเมอร์เลงโกจะเป็นผู้ยืนยันการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาอย่างเป็นทางการ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นขั้นตอนง่ายๆ โดยมีแพทย์รับรองและออกใบมรณบัตร ขณะที่ในอดีตจนถึงช่วงศตวรรษที่ 20 พิธีนี้จะทำโดยการเคาะค้อนเงินเบาๆ บนหน้าผากของพระสันตะปาปา 3 ครั้ง
คาเมอร์เลงโกและผู้ช่วยอีก 3 คน ซึ่งเป็นคาร์ดินัลที่อายุต่ำกว่า 80 ปี เรียกว่า “คาร์ดินัลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” (Cardinal Electors) จะเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะนำพระศพของพระสันตะปาปาไปยังมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ เพื่อให้สาธารณชนได้แสดงความเคารพเมื่อใด
พวกเขายังมีหน้าที่ทำลาย “แหวนของนักบุญเปโตร” ที่เรียกว่า Fisherman’s Ring ซึ่งเป็นแหวนประจำตำแหน่งของสมเด็จพระสันตะปาปา และตราประทับตะกั่วของพระองค์ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นนำไปใช้ได้ โดยจะไม่มีการชันสูตรพลิกศพ
คาเมอร์เลงโกจะทำการปิดผนึกและล็อกที่พำนักของพระสันตะปาปา ซึ่งในอดีตอยู่ในพระราชวังอัครสังฆราช หรือ Apostolic Palace แต่พระสันตะปาปาฟรานซิสประทับในห้องชุดเล็กๆ ภายในเรือนรับรองของวาติกันที่รู้จักกันในชื่อซานตามาร์ตา
คาเมอร์เลงโกและบรรดาพระคาร์ดินัลองค์อื่นๆ ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ที่มีผลต่อศาสนจักร หรือเปลี่ยนแปลงคำสอนของคริสตจักรได้ ด้านหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ของวาติกันส่วนใหญ่จะต้องลาออกจากตำแหน่ง จนกว่าพระสันตะปาปาองค์ใหม่จะได้รับเลือกและแต่งตั้งบุคคลใหม่ หรือยืนยันที่จะใช้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งอยู่แต่เดิม
พิธีไว้อาลัยจะกินเวลา 9 วัน โดยวันที่จัดพิธีพระศพและการฝังพระศพจะถูกกำหนดโดยเหล่าพระคาร์ดินัล อย่างไรก็ดี ตามธรรมนูญ Universi Dominici Gregis ระบุว่า พิธีพระศพควรจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 หลังจากการสิ้นพระชนม์
๐พิธีศพของสมเด็จพระสันตะปาปา (Papal Funeral)
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงหลีกเลี่ยงพิธีการและอภิสิทธิ์อันหรูหราของตำแหน่งประมุขแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก ได้ทรงปรับปรุงและทำให้พิธีศพของพระสันตะปาปาเรียบง่ายขึ้นในปี 2024
คาดว่าพิธีมิสซางานพระศพยังคงจะจัดขึ้นที่จตุรัสเซนต์ปีเตอร์เช่นเดิม แต่ต่างจากพระสันตะปาปาองค์ก่อนๆ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงขอให้ฝังพระศพไว้ที่ มหาวิหารเซนต์แมรี เมเจอร์ ในกรุงโรม เพื่อจะได้อยู่ใกล้กับรูปพระแม่มารี อันเป็นที่เคารพของพระองค์
พระองค์ยังขอให้ใช้โลงไม้ธรรมดาในการฝังพระศพ แทนที่จะเป็นโลง 3 ชั้น ที่ทำจากไม้ไซเปรส ตะกั่ว และไม้โอ๊ค ตามแบบของพระสันตะปาปาองค์ก่อนๆ และยังทรงขอว่า อย่านำพระศพไปตั้งแสดงบนแท่นสูงในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ เพื่อให้ประชาชนมาเคารพเช่นเดียวกับที่ผ่านมาในอดีต
๐การประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา (The Conclave)
พระคาร์ดินัลจากทั่วโลกจะเดินทางมายังกรุงโรมหลังการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปา พวกเขาจะเข้าร่วมประชุมประจำวันที่เรียกว่าการประชุมใหญ่ทั่วไป เพื่อหารือเรื่องต่างๆ ของศาสนจักร และวางแนวทางเกี่ยวกับคุณลักษณะที่พระสันตะปาปาองค์ใหม่ควรมี
พระคาร์ดินัลที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไปสามารถเข้าร่วมประชุมทั่วไปได้ แต่ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปาที่เรียกว่าการประชุมสภาสังคายนา หรือ Conclave ซึ่งสงวนไว้สำหรับพระคาร์ดินัลที่อายุต่ำกว่า 80 ปีเท่านั้น โดยการหารือส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นผ่านการพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการระหว่างพระคาร์ดินัล
โดยปกติจะมีช่วงไว้ทุกข์ 15 วัน ก่อนการเริ่มต้นของการประชุมลับเพื่อเลือกพระสันตะปาปา แต่ก่อนที่พระสันตะปาปาเบเนดิกต์จะลาออกในปี 2013 พระองค์ได้แก้ไขธรรมนูญให้สามารถเริ่มการประชุมลับได้เร็วขึ้นหากพระคาร์ดินัลพร้อม หรือช้าที่สุดไม่เกิน 20 วัน หากมีพระคาร์ดินัลบางองค์มีปัญหาในการเดินทางมายังกรุงโรมล่าช้า
การประชุมลับนี้จัดขึ้นที่ โบสถ์น้อยซิสทีน ในอดีตจนถึงปี 1978 พระคาร์ดินัลจะพักในห้องชั่วคราวรอบโบสถ์ แต่ตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา พวกเขาพักใน เกสต์เฮาส์ซานตามาร์ตา ซึ่งมีประมาณ 130 ห้อง โดยโบสถ์ซิสทีนจะถูกปิดตาย และพระคาร์ดินัลทั้งหมดจะนั่งรถบัสไปลงคะแนนเสียงโบสถ์น้อยซิสทีน
คำว่า “Conclave” มาจากภาษาละตินแปลว่า “ด้วยกุญแจ” มาจากประเพณีที่เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 13 ซึ่งหมายถึงการขังพระคาร์ดินัลไว้ไม่ให้มีการติดต่อกับโลกภายนอก เพื่อเร่งการตัดสินใจและลดการแทรกแซงจากภายนอก
ปัจจุบัน พระคาร์ดินัลที่เข้าร่วมถูกห้ามไม่ให้ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง ไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรืออ่านหนังสือพิมพ์ และตำรวจวาติกันจะใช้ระบบรักษาความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อควบคุมให้มีการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับทั้งหมดอย่างเข้มงวด
โดยปกติ ในวันแรกของการประชุมลับ จะมีการลงคะแนนหนึ่งครั้ง จากนั้นในแต่ละวันจะมี การลงคะแนนวันละ 2 ครั้ง
การเลือกตั้งต้องได้เสียง 2 ใน 3 บวกหนึ่งเสียง จึงจะถือว่าได้รับการเลือกตั้ง หากไม่มีผู้ใดได้รับเลือกภายใน 13 วัน จะมีการเลือกใหม่โดยจำกัดตัวเลือกให้เหลือเพียง 2 ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด แต่ยังคงต้องได้เสียง 2 ใน 3 บวก 1 เสียงเช่นเดิม เพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพ และขัดขวางผู้สมัครที่พยายามหาทางประนีประนอมเพื่อให้ได้รับชัยชนะ
๐เรามีประสันตะปาปาพระองค์ใหม่แล้ว (Habemus Papam)
เมื่อที่ประชุมเลือกตั้งได้เลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่แล้ว
พระคาร์ดินัลผู้ได้รับเลือกจะถูกถามว่า ยอมรับตำแหน่งหรือไม่ และพระองค์ต้องระบุว่า จะทรงใช้พระนามใด หากพระองค์ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง การลงคะแนนจะเริ่มต้นใหม่ทันที
พระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จะทรงสวมชุดขาวซึ่งเตรียมไว้ล่วงหน้าสามขนาดต่างกัน และประทับบนบัลลังก์ภายในโบสถ์น้อยซิสทีน เพื่อรับการถวายความเคารพและคำสัตย์ปฏิญาณความจงรักภักดีจากพระคาร์ดินัลองค์อื่น ๆ
ประชาชนทั่วโลกจะทราบว่าได้มีพระสันตะปาปาองค์ใหม่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการเผาบัตรลงคะแนนด้วยสารเคมีพิเศษซึ่งจะทำให้ “ควันสีขาว” พวยพุ่งออกจากปล่องไฟของโบสถ์ซิสทีน
ถ้าเป็น “ควันสีดำ” แสดงว่า ยังไม่มีข้อสรุปในการเลือกตั้ง
พระคาร์ดินัลผู้มีอาวุโสสูงสุดในกลุ่ม “พระคาร์ดินัลระดับสังฆานุกร” ซึ่งปัจจุบันคือ พระคาร์ดินัลโดมินิก ม็องแบร์ตี ชาวฝรั่งเศส จะก้าวขึ้นไปยัง ระเบียงกลางของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ เพื่อประกาศต่อฝูงชนในจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ด้วยคำว่า: “Habemus Papam” ซึ่งเป็นภาษาละตินที่แปลว่า “เรามีพระสันตะปาปาแล้ว”
จากนั้นพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จะเสด็จออกมายังระเบียง และประทานพรแก่คริสตศาสนิกชนเป็นครั้งแรก ในฐานะองค์พระประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก
————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวมติชน / วันที่เผยแพร่ 21 เมษายน 2568
Link : https://www.matichon.co.th/foreign/news_5147358