ความเคลือบแคลงใจของอิหร่านต่อสหรัฐฯ มีสาเหตุมาจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์
อาร์เมน เนอร์เซสเซียน
บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
—————-
10 เมษายน 2025
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ สร้างความประหลาดใจให้กับหลายฝ่ายหลังเขาประกาศในสัปดาห์นี้ว่า สหรัฐฯ จะ “เจรจาโดยตรง” กับอิหร่านเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์
แม้ทรัมป์จะเตือนว่า การดำเนินการทางทหารยังคงเป็นไปได้หากการเจรจาทางการทูตล้มเหลว แต่การเกิดขึ้นของการเจรจาเพียงอย่างเดียวก็ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป็นการริเริ่มจากทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่เคยถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านฉบับก่อนหน้านี้ หรือแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วมปี 2015 (2015 Joint Comprehensive Plan of Action – JCPOA)
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กล่าวเตือนระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ของนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลเบนจามิน เนทันยาฮู ว่าการดำเนินการทางทหารยังคงเป็นไปได้หากการเจรจาทางการทูตล้มเหลว
แม้จะต้องเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจและในทางยุทธศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้นมาเป็นเวลาหลายปี แต่อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ก็ยังต่อต้านการเจรจาโดยตรงกับสหรัฐฯ มาจนถึงปัจจุบัน การปฏิเสธของผู้นำสูงสุดของอิหร่านมีสาเหตุมาจากสิ่งที่มากกว่าแค่การทูต แต่คือการรักษารากฐานทางอุดมการณ์และการเมืองของสาธารณรัฐอิสลามด้วย
การมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นศัตรูทางประวัติศาสตร์ของอิหร่าน อาจทำลายวาทกรรมต่อต้านอเมริกาที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ และกัดกร่อนอำนาจของคาเมเนอีในหมู่กลุ่มหัวรุนแรง รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านกล่าวว่า การเจรจาในประเทศโอมานจะเป็นการเจรจา “ทางอ้อม” และเสริมด้วยว่า เขาเชื่อว่าอิหร่านสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้ หากสหรัฐฯ แสดงความจริงใจ
ดร.อานิเซห์ บาสซีรี ตาบริซี นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทที่ปรึกษา Control Risks บอกกับบีบีซีว่า เธอเชื่อว่าทั้งอิหร่านและสหรัฐฯ ต่างต้องการข้อตกลง
“แต่การพบกันครั้งแรกนั้นไม่น่าจะนำไปสู่ข้อตกลงในทันที” เธอกล่าว “แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา [จากการพบกันครั้งแรก] อาจปูทางไปสู่ข้อตกลงได้”
แล้วอิหร่านต้องการข้อตกลงนิวเคลียร์จริงหรือไม่ หรือว่านี่เป็นเพียงอีกด่านในเกมแห่งการเสี่ยงอันตรายอันยาวนาน ?
ระบอบการปกครองอิหร่านกำลังเผชิญกับความกดดัน
แรงกดดันต่อประเทศอิหร่านและผู้นำกำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงและค่าเงินที่ตกต่ำ
อิหร่านกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก หลังเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตด้วยสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเกิน 32% อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าเงินของประเทศที่ร่วงลงอย่างรวดเร็ว และดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ความไม่พอใจของประชาชนกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและชนชั้นกลาง การประท้วงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงภาวะสังคมที่ตึงเครียดจากทั้งความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และการกดปราบทางการเมือง
ในขณะเดียวกัน อิทธิพลในภูมิภาคของประเทศอิหร่านก็อ่อนลง กลุ่มตัวแทนสำคัญ เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ฮามาส และฮูตี ต่างเผชิญกับความพ่ายแพ้ นอกจากนี้การล่มสลายของระบอบการปกครองของบาชาร์ อัล อัสซาดในประเทศซีเรีย ทำให้อิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคอ่อนแอลง เนื่องจากเส้นทางการเชื่อมโยงสำคัญกับฮิซบอลเลาะห์ถูกตัดขาด อีกทั้งอิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีดินแดนของอิหร่านและกองกำลังติดอาวุธที่เชื่อมโยงกับอิหร่านอย่างไม่หวาดกลัวและสร้างความเสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ความสามารถในการแสดงอำนาจของสาธารณรัฐอิสลามอย่างอิหร่าน ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ความไม่สงบภายในประเทศและความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ในภูมิภาครวมกันทำให้ราคาที่ต้องจ่ายของการแยกตัวออกไปเพิ่มขึ้น ดังนั้น อิหร่านอาจมองเห็นคุณค่าเชิงยุทธศาสตร์ในการมีส่วนร่วมอีกครั้งกับสหรัฐฯ หากเพียงเพื่อผ่อนคลายการคว่ำบาตรและเพิ่มพื้นที่ให้ได้หายใจอยู่บ้าง
การเจรจาที่ไร้ความไว้วางใจ
ในปี 2013 บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน โดยถือเป็นการสนทนาระดับสูงครั้งแรกนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 1979
อย่างไรก็ตาม ความพยายามทางการทูตใด ๆ ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ต้องเผชิญกับความไม่ไว้วางใจที่แอบแฝงอยู่ อิหร่านจดจำชะตากรรมของข้อตกลงแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) ได้เป็นอย่างดี เมื่อทางการอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงที่สหรัฐฯ ลงนามไว้ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา แต่กลับพบว่าข้อตกลงนี้ถูกทำลายลงโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ที่นำโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2018 ผลที่ตามมาคือ มาตรการคว่ำบาตรถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งและเศรษฐกิจของอิหร่านก็พังทลายลง
สำหรับคาเมเนอี เรื่องนี้ได้ยืนยันความเชื่อที่มีมายาวนานว่าสหรัฐฯ เป็นคู่เจรจาที่ไม่น่าเชื่อถือ
ความคลางแคลงใจนี้ได้รับการเสริมแรงเข้ามาจากความไม่พอใจในอดีต ตั้งแต่การรัฐประหารที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐ (Central Intelligence Agency – CIA) ในปี 1953 เพื่อโค่นล้มนายโมฮัมหมัด โมซาเดก นายกรัฐมนตรีของอิหร่าน ไปจนถึงการสนับสนุนนายซัดดัม ฮุสเซน ของสหรัฐฯ ระหว่างสงครามอิหร่าน-อิรัก และการลอบสังหารนายพลกาเซ็ม โซไลมานี ในการโจมตีด้วยโดรนของสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ ผู้นำอิหร่านมองเห็นรูปแบบของการทรยศและความเป็นศัตรู และอิหร่านไม่ได้หลงลืมเหตุการณ์เหล่านี้ และมันยังเป็นปัจจัยที่หล่อหลอมการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ของอิหร่านในทุกครั้ง
สิ่งที่ทำให้เรื่องการเจรจาซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีกคือ ข้อความที่คลุมเครือของสหรัฐฯ เอง ในขณะที่ไมเคิล วอลทซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ยืนกรานให้อิหร่านรื้อถอนโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงโครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมและขีดความสามารถของขีปนาวุธ ข้อตกลงนี้เหล่านี้ถูกเรียกว่า “ลิเบียโมเดล” อันหมายถึงข้อตกลงในปี 2003 ที่พันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำกองทัพของลิเบียในขณะนั้นตกลงที่จะสละอาวุธทำลายล้างสูง แต่ในทางกลับกันสตีฟ วิตคอฟฟ์ ทูตพิเศษของสหรัฐฯ ประจำตะวันออกกลาง ก็ได้พูดถึงการแก้ไขข้อพิพาททางการทูต โดยเรียกร้องให้มีการเข้าไปตรวจสอบ และมาตรการที่รอบคอบมากขึ้นกับอิหร่าน
ดร.บาสซีรี กล่าวว่า ผลลัพธ์ของการเข้าร่วมการเจรจาจะขึ้นอยู่กับสิ่งสหรัฐฯ เสนอให้กับประเทศอิหร่าน ในแง่ของการรับประกัน
“สิ่งที่อิหร่านต้องการอย่างแท้จริง คือการไม่ถูกรื้อถอนโครงการ [นิวเคลียร์] ของตน” ดร.บาสซีรี กล่าวเสริม “ฉันคิดว่าสิ่งที่อิหร่านจะไม่ยอมรับคือการรื้อถอนโครงการ [นิวเคลียร์] ของอิหร่านทั้งหมด”
ทางด้านจอห์น เมียร์ไชเมอร์ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่า “ผมคิดว่ามันชัดเจนมากว่า ทั้งสหรัฐอเมริกาและอิหร่านต่างก็ต้องการหลีกเลี่ยงสงคราม แต่ยากที่จะบอกว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในการพูดคุยกันในเบื้องหลัง”
อำนาจต่อรองและความกลัวของอิหร่าน
อิหร่านไม่อยากตามรอย “ลิเบียโมเดล” ซึ่งหมายถึงการล้มล้างโครงการนิวเคลียร์ของประเทศในแอฟริกาเหนือทั้งหมด ตามด้วยการล่มสลายของระบอบการปกครองของมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย
สำหรับอิหร่าน ข้อตกลงแบบลิเบีย ซึ่งหมายถึงการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ ต้องไม่เป็นสิ่งแรกที่อยู่บนโต๊ะเจรจา พันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบีย ละทิ้งความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของเขา แต่กลับถูกโค่นล้มและเสียชีวิตในเหตุการณ์การลุกฮือที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกในปี 2011 ผู้นำสูงสุดของอิหร่านมองเรื่องนี้ว่าเป็นเครื่องเตือนใจ และไม่ใช่แบบอย่างของความสำเร็จ
โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านยังคงเป็นเครื่องต่อรองที่ทรงพลังที่สุด ด้วยตัวแทนในภูมิภาคที่อ่อนแอลง และเศรษฐกิจที่สั่นคลอน อำนาจต่อรองด้านนิวเคลียร์อาจเป็นสิ่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ของอิหร่าน การยอมแพ้โดยไม่มีการรับประกันที่แข็งแกร่งแน่นอนอาจทำให้ระบอบการปกครองอิหร่านเผชิญกับการรุกรานจากต่างชาติและการต่อต้านภายในประเทศ
ศาสตราจารย์เมียร์ไชเมอร์ จาก ม.ชิคาโก เชื่อว่าเป็นไปได้มากที่สหรัฐฯ และอิสราเอลจะโจมตีประเทศอิหร่าน หากสหรัฐฯ เรียกร้องให้ดำเนินข้อตกลงตามรอย “ลิเบียโมเดล”
“หากอิหร่านไม่ยอมรับข้อเรียกร้องเหล่านั้น สำหรับผม มันดูเหมือนว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะกดดันตัวเองไปจนถึงจุดที่สหรัฐฯ จะต้องโจมตีอิหร่าน” เขากล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น การเจรจาโดยตรงกับสหรัฐฯ อาจจุดชนวนให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองภายในกลุ่มชนชั้นปกครองของอิหร่าน และเสี่ยงที่จะทำให้กลุ่มหัวรุนแรงมีอำนาจมากขึ้น ทำให้กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอ่อนแอลง และเป็นการท้าทายแนวคิดต่อต้านตะวันตกที่เป็นรากฐานของระบอบการปกครอง หากการทูตประสบความสำเร็จและสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น ก็มีแนวโน้มว่าแรงผลักดันของการปฏิรูปอาจมีเพิ่มมากขึ้น และอาจคุกคามการควบคุมที่เข้มงวดของกลุ่มหัวรุนแรง
เส้นทางอันตรายที่รออยู่ข้างหน้า
รูปแบบของการเจรจาอาจเป็นตัวบ่งบอกว่าทั้งสองฝ่ายจริงจังแค่ไหนในการบรรลุข้อตกลง ในภาพนี้คือ สตีฟ วิตคอฟฟ์ ทูตพิเศษสหรัฐฯ ประจำตะวันออกกลาง และอับบาส อารัคชี รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน
ทั้งสองฝ่ายต่างเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบาก สหรัฐฯ ต้องตัดสินใจว่าจะหาข้อตกลงแบบจำกัดขอบเขตและตรวจสอบนิวเคลียร์ในลักษณะเดียวกับแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) หรือเลือกข้อตกลงที่ครอบคลุมมากขึ้นที่เรียกร้องให้ทางการอิหร่านยุติโครงสร้างพื้นฐานทางยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่ และในทางกลับกัน ทางการอิหร่านต้องชั่งน้ำหนักระหว่างต้นทุนทางอุดมการณ์ของการเจรจาร่วมกับสหรัฐฯ กับผลที่จะตามมาในทางเศรษฐกิจจากการอยู่โดดเดี่ยวต่อไป
ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่บางคนในรัฐบาลสหรัฐฯ มองการเจรจาทางการทูตเป็นบททดสอบที่ออกแบบไว้ให้อิหร่านล้มเหลว เพื่อใช้เป็นเหตุผลในการดำเนินการทางทหารในท้ายที่สุด แต่คนอื่น ๆ ก็หวังอย่างแท้จริงว่า จะมีผลลัพธ์ที่เจรจากันได้ ซึ่งจะช่วยลดความตึงเครียดและทำให้ภูมิภาคมีความมั่นคง
เดิมพันครั้งนี้สูงมากอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ความก้าวหน้าในการเจรจาอาจเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวอาจเพิ่มความไม่มั่นคงให้กับภูมิภาคที่มีความผันผวนมากอยู่แล้ว
สิ่งที่ยังคงชัดเจนคือขั้นตอนต่อไปของการพบกันระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับอิหร่านเอง เพราะแรงกดดันกำลังเพิ่มขึ้นจากทั้งภายในและภายนอก แม้ว่าคาเมเนอี อาจยังคงยืนหยัดอยู่ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ความไม่สงบทางสังคม และความจำเป็นเชิงยุทธศาสตร์ กำลังกลายเป็นสิ่งที่มองข้ามได้ยากขึ้นและผลักดันให้เกิดการเจรจากับสหรัฐฯ ไม่ว่าการเจรจาจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในที่สุด ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะไม่เพียงแต่กำหนดเส้นทางโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอนาคตความมั่นคงในตะวันออกกลางในอีกหลายปีข้างหน้าด้วย
————————————————————————————————–
ที่มา : bbc / วันที่เผยแพร่ 10 เมษายน 2568
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/c5ygge34kgpo