มาร์ค สักซาร์ (Marc Saxer) ผู้ประสานงานภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของมูลนิธิฟรีดริก เอแบร์ท ไม่เพียงคาดทำนายระเบียบโลกใหม่ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์#2 ว่าอาจเป็นแบบเขตอิทธิพล 3 เขตซึ่งรวมศูนย์ที่อเมริกา, รัสเซียและจีนเท่านั้น
หากมาร์คยังคาดการณ์ระเบียบสังคมการเมืองใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาภายใต้การปกครองของทรัมป์กับคณาธิปไตยอีลีตไฮเทคอย่างอีลอน มัสก์@Tesla, เจฟฟ์ เบซอส@Amazon, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก@Meta, แซม อัลท์แมน@OpenAI, โจวโซ่วจือ@TikTok, etc. ด้วย
ว่ามันอาจไม่ใช่แค่ระบอบอำนาจนิยมหรือฟาสซิสต์หรือราชาธิปไตยที่มีทรัมป์เป็นประมุขอย่างที่วิเคราะห์คาดเดากัน ทว่า กลายเป็นระบอบเทคโน-ศักดินาใหม่ (Techno-Feudalism) ทีเดียวเจียว
มาร์คชี้ว่าระบบบริหารปกครอง (governance systems) ทั้งหลายในประวัติศาสตร์มักคลี่คลายขยายตัวเพื่อ ตอบรับการท้าทายและความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ดังที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิรูปของปรัสเซีย
น่าสนใจว่านักยุทธศาสตร์ชาวอเมริกันหลายคนเชื่อว่าระบอบเสรีประชาธิปไตยตะวันตกทุกวันนี้ประชันขันแข่งกับทุนนิยมแห่งรัฐของจีนไม่ได้เสียแล้ว
ทั้งนี้ก็เพราะระบบรัฐราชการซึ่งถูกสถาปนาขึ้นในศตวรรษที่ 19 กำลังประสบปัญหาจัดการรับมือกับการท้าทายของโลกปัจจุบันแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งกลายเป็นแบบโลกาภิวัตน์ เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายและเปลี่ยนแปลงเร่งเร็วขึ้นทุกที
โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกระแสไหลเวียนทั่วโลก (global flows) ต่างๆ อาทิ โรคระบาดทั่วอย่างโควิด-19, การอพยพข้ามแดน, วิกฤตการเงิน, ข้อมูลมหาศาล เป็นต้น ซึ่งมันแผ่กระจายไปทั่วโลกด้วยความเร็วสูงยิ่ง
บรรดาอีลีตไฮเทคแห่งซิลิคอนแวลลีย์ทั้งหลายอันมีอีลอน มัสก์ เป็นหัวขบวนเล็งเห็นว่าทางออกอยู่ตรงการแทนที่ระบบราชการเก่าซึ่งเป็นแบบอะนาล็อกเอื่อยเฉื่อย ด้อยประสิทธิภาพและทุจริตฉ้อฉล ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI – Artificial Intelligence) เพื่อทำให้การบริหารปกครองมีประสิทธิภาพ สมรรถภาพและตอบสนองได้ดี
พูดง่ายๆ คือ เพื่อต่อกรกับทุนนิยมแห่งรัฐของจีน อเมริกาต้องอัพเกรดระบบปฏิบัติการ (operating system) ของตนเสียใหม่นั่นเอง
(อนึ่ง OS หรือ operating system หมายถึงซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถสั่งงานคอมพิวเตอร์ให้ทำงานตามที่ต้องการได้ มีไว้สื่อสารหรือโต้ตอบกับผู้ใช้งานนั่นเอง ดู https://kirz.com/)
มาร์คชี้ชวนให้ระลึกถึงคำเตือนของ ยานิส วารูฟาคิส นักเศรษฐศาสตร์การเมืองปีกซ้ายชาวกรีกเกี่ยวกับแนวโน้มเทคโน-ศักดินา (Techno-Feudalism, 2023) ที่กำลังเกิดขึ้นกับทุนนิยมปัจจุบัน ซึ่งพอสรุปสังเขปได้ว่า :
– เศรษฐกิจโลกได้ปรับเปลี่ยนจากทุนนิยมแบบดั้งเดิมไปเป็นระบบใหม่ซึ่งบรรดาบริษัทบิ๊กเทคกับชนชั้นนำทางการเงินทั้งหลายควบคุมชีวิตเศรษฐกิจเอาไว้ราวเจ้านายศักดินาแต่เก่าก่อน กล่าวคือ
1. ทุนนิยมไม่ได้ทำหน้าที่ดังก่อนอีกต่อไป :
– ทุนนิยมแบบดั้งเดิมพึ่งพาอาศัยตลาด การแข่งขันและวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนหากำไร
– ทว่าทุกวันนี้ บริษัทแพลตฟอร์มผูกขาด (เช่น Amazon, Google, Meta, X, etc.) กลับครอบงำและควบคุมการเข้าถึงตลาดแทนที่จะเข้าร่วมในตลาดด้วยตัวเอง
2. บิ๊กเทคดำรงตนในฐานะ “เจ้านายศักดินาใหม่” :
– แทนที่จะเป็นธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ผลิตและจำหน่ายสินค้า แพลตฟอร์มบิ๊กเทคกลับทำตัวเป็นเจ้าที่ดินดิจิทัลที่รีดเค้นเอาค่าเช่าที่จากเหล่าผู้ใช้งาน ผู้โฆษณาและธุรกิจรายย่อยทั้งหลาย
– ตัวอย่างเช่น Google กับ Facebook เอาเข้าจริงไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์ใดๆ เลย แต่ควบคุมอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัลและเรียกเก็บค่าเข้าถึงมันจากบริษัทต่างๆ
– ส่วน Amazon, Temu, etc. ก็บงการกำกับว่าใครได้ขายของในแพลตฟอร์มของตนบ้าง แล้วเรียกเก็บส่วนแบ่งรายได้จากการขายเหมือนเจ้าที่ดินศักดินา
3. ทุนนิยมสอดแนม & การขูดรีดข้อมูล :
– แทนที่จะขูดรีดเอามูลค่าส่วนเกินจากแรงงาน (ดังที่ทำกันในสมัยทุนนิยมคลาสสิค) มาบัดนี้บริษัทเทคทั้งหลายกลับขูดรีดข้อมูลและความสนใจใส่ใจจากเหล่าผู้ใช้งานทั้งหลาย โดยไล่ต้อนพวกเขาเข้าสู่ระบบไพร่ข้าแบบใหม่ที่ซึ่งผู้คนทำงานให้แบบเปล่าๆ ปลี้ๆ ด้วยการสร้างเนื้อหา คำวิจารณ์ และเข้าร่วมออกความเห็น
4. การทำให้เป็นธุรกิจการเงิน & อวสานของตลาดเสรี :
– บรรดาธนาคารกลางทั้งหลาย (อย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ ธปท.) ก็อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่แทนที่มันจะไปกระตุ้นการลงทุนเพื่อการผลิต การณ์กลับกลายเป็นว่ากระแสเงินตราเหล่านี้ไหลเทเข้าไปซื้อหุ้นบิ๊กเทคและสินทรัพย์เก็งกำไรชนิดต่างๆ อันยิ่งรวมศูนย์ความมั่งคั่งไว้ในมืออีลึตกลุ่มกระจิริดเข้าไปอีก
– ภาวะที่กล่าวมานี้สะท้อนสภาพเสมือนหนึ่งเจ้านายศักดินายุคกลางของยุโรปที่สะสมความมั่งคั่งมหาศาลไว้ขณะที่ชาวนาชาวไร่ตรากตรำกรำงานหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน
5. ความเหลื่อมล้ำ & การสูญเสียอิสรภาพทางเศรษฐกิจ :
– สมัยศักดินา ชาวนาชาวไร่ต้องพึ่งพาอาศัยเจ้าที่ดินเพื่อยังชีพอยู่รอดฉันใด
– ทุกวันนี้ บรรดาธุรกิจและคนงานทั้งหลายแหล่ก็ถูกบีบคั้นบังคับให้ต้องพึ่งพาอาศัยแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพฉันนั้น อันเป็นการจำกัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจของพวกเขาและถ่างกว้างความเหลื่อมล้ำให้ห่างกันมหาศาลออกไปอีก
– วารูฟากิสสรุปว่าเราไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมในความหมายดั้งเดิมอีกต่อไปแล้ว หากอยู่ในยุคเทคโน-ศักดินาต่างหาก ที่ซึ่งอำนาจรวมศูนย์อยู่กับทุนผูกขาดดิจิทัลแทนที่จะเป็นตลาดแข่งขันเสรีใดๆ (ChatGPT@15Mar2025)
มาร์คประยุกต์ไอเดียข้างต้นมาฟันธงสรุปว่าคณาธิปไตยไฮเทคอเมริกันกำลังเกาะหลังทรัมป์เข้าไปหยั่งยึดระบบเทคโน-ศักดินาไว้ในโครงสร้างสถาบันของรัฐอเมริกัน
เป้าหมายได้แก่การสร้างระบอบเทคโนแครตที่ทรงประสิทธิภาพสูง หลุดห่างจากการตรวจสอบดูแลแบบประชาธิปไตย และเพ่งเล็งรวมศูนย์อยู่ที่การสนองโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง การคลังและวัตถุให้แก่ทุนนิยมไฮเทค-อนาธิปไต
————————————————————————————————–
ที่มา : matichonweekly / วันที่เผยแพร่ 24 เมษายน 2568
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_836612