จังหวะ” ของประธานาธิบดีจีน ในการเยือน 3 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางสมรภูมิการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ร้อนแรง
ประธานาธิบดีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เดินสายเยือน 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มจากเวียดนาม ระหว่างวันที่ 14-15 เม.ย. ตามด้วยมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 15-17 เม.ย. และปิดท้ายด้วยกัมพูชา ระหว่างวันที่ 17-18 เม.ย. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สีเยือนเวียดนามครั้งล่าสุด เมื่อเดือนธ.ค. 2566 และทั้งสองประเทศยกระดับความร่วมมือ สู่การเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” ปัจจุบัน เวียดนามเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนำเข้าสินค้าจากจีนมากที่สุด โดยมูลค่าอยู่ที่ 161,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 5.42 ล้านล้านบาท ) เมื่อปีที่แล้ว
อนึ่ง การเยือนเวียดนามของผู้นำจีนในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดอย่างหนักทางการค้า ระหว่างสหรัฐกับจีน โดยจีนเป็นประเทศเดียวบนโลก ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันบังคับใช้อัตราภาษีต่างตอบแทนอยู่ ณ ตอนนี้ ในอัตราอย่างน้อย 145% และจีนขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐ ในอัตราอย่างน้อย 125%
ส่วนอีก 75 ประเทศและดินแดนบนโลก “ได้รับการผ่อนผัน” ออกไปอีก 90 วัน จนถึงวันที่ 9 ก.ค. นี้ โดยในกลุ่ม 3 ประเทศที่ผู้นำจีนเยือนอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ กัมพูชาเผชิญกับอัตราเรียกเก็บ 49% เวียดนามเผชิญกับอัตราเรียกเก็บ 46% และมาเลเซียเผชิญกับอัตราเรียกเก็บ 24%
ระหว่างการพบหารือกับคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนาม นำโดยพล.ต.อ.โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และพล.อ.เลือง เกื่อง ประธานาธิบดีเวียดนาม ผู้นำจีนเรียกร้องทั้งสองประเทศหัวหน้าเข้าหากัน และจับมือกัน “เพื่อรักษาเสถียรภาพของกลไกลการค้าเสรีในแบบพหุภาคี และทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน”
สีกล่าวต่อไปว่า “ตลาดขนาดมหึมาของจีนเปิดกว้างสำหรับเวียดนามเสมอ” ขณะเดียวกัน “จีนกับเวียดนามควรเพิ่มการให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ และร่วมกันต่อต้านการข่มเหงรังแกฝ่ายเดียว” พร้อมทั้งเสริมว่า “เรือลำเล็กที่มีใบเรือเพียงใบเดียว ยากที่จะต้านทานคลื่นลมแรงและพายุ มีเพียงการร่วมแรงร่วมใจเท่านั้น ซึ่งจะสามารถทำให้เรือลำเล็กนี้แล่นได้อย่างมั่นคง และเดินทางไปได้ไกล”
แน่นอนว่า ทั้งสามประเทศปูพรมแดงเพื่อต้อนรับประธานาธิบดีจีนอย่างยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในความนอบน้อมต่อพี่ใหญ่แห่งทวีปเอเชีย ย่อมต้องมีความระมัดระวังเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กลายเป็นการสื่อสารออกไปให้อีกฝ่ายมองเป็นว่า “เข้าข้างจีน” ยิ่งในเวลาที่อยู่ในยุครัฐบาลสหรัฐของทรัมป์ด้วยแล้ว ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงและอาจมีอะไรเกิดขึ้นได้เสมอ ต่อให้อยู่ในช่วงที่รัฐบาลวอชิงตันระงับการเรียกเก็บภาษีต่างตอบแทนออกไปอีก 90 วัน จนถึงวันที่ 9 ก.ค. นี้ “เพื่อเปิดโอกาส” เจรจากับทุกประเทศและภูมิภาคก็ตาม
ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนระบุว่า จีนเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับเวียดนามราว 1.6 เท่า และหากรวมในฐานะสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ประชาคมแห่งนี้เป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดของสินค้าจากจีน ตั้งแต่ปี 2566 แซงหน้าสหรัฐและสหภาพยุโรป ( อียู )
มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับเวียดนามเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ระหว่างปี 2560-2567 ส่งผลให้จีนเป็นประเทศคู่ค้านใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยกลุ่มทุนจากจีนเข้ามาลงทุนอย่างหนักและต่อเนื่องในเวียดนาม ซึ่งมีการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น และกลายเป็นฐานการผลิตสินค้าหลายชนิดก่อนส่งออกต่อไปยังสหรัฐด้วย
นอกจากนี้ จีนยังเข้ามามีส่วนกับการพัฒนาโคงสร้างพื้นฐานหลายอย่างในเวียดนาม รวมถึงการที่รัฐบาลฮานอยวางแผนกู้เงินจากรัฐบาลจีน 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 278,083.20 ล้านบาท ) เพื่อนำไปใช้เป็นทุนสำหรับโครงการสร้างทางรถไฟสายใหม่ ความยาว 391 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างจังหวัดหล่าวกาย ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านกรุงฮานอย กับเมืองไฮฟอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุด ในภาคเหนือของเวียดนาม และอาจต่อเนื่องไปยังพื้นที่บางส่วนทางตอนใต้ของจีนในอนาคต
ในส่วนของมาเลเซียนั้น หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ผู้นำจีนเดินทางไปเยือน น่าจะเป็นการที่รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์อยู่ในฐานะประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ประจำปีนี้ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำมาเลเซีย มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับ การไหลทะลักของสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีการเจรจากับรัฐบาลปักกิ่งอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม การที่อันวาร์กล่าวว่า ยังไม่เคยสนทนาทางโทรศัพท์อย่างเป็นทางการกับทรัมป์ และการที่มาเลเซียเป็นประเทศซึ่งมีจุดยืนชัดเจน ว่าต่อต้านสงครามในฉนวนกาซา สวนทางกับที่สหรัฐสนับสนุนอิสราเอล และการที่ผู้นำมาเลเซียเคยกล่าวด้วยว่า “จีนไม่ใช่แค่ยักษ์ใหญ่จากตะวันออก แต่ยังเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มประเทศโลกใต้” หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
ยิ่งไปกว่านั้น มาเลเซียเป็นประเทศในอาเซียน ซึ่งนำเข้าสินค้าจากจีนมาเป็นอันดับสองรองจากเวียดนาม โดยมูลค่าอยู่ที่ 101,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 3.4 ล้านล้านบาท ) เมื่อปี 2567 ถือว่า “มีเหตุผลเพียงพอ” ที่ผู้นำจีนต้องเดินทางมาคุยกับมาเลเซียด้วยตัวเอง หากมองในมิติของสงครามการค้า ซึ่งสหรัฐกำลังกดดันจีนอย่างหนักจากทุกทิศทาง
ส่วนกัมพูชานั้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า คือพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การมาเยือนของประธานาธิบดีจีนเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2559 ย่อมมีความสำคัญอย่างมากสำหรับรัฐบาลพนมเปญ ในแง่ของสงครามการค้า ที่กัมพูชาเผชิญกับอัตราภาษีต่างตอบเทน 49% สูงที่สุดในบรรดาสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ
อีกด้านหนึ่ง มีการตั้งคำถาม การวิเคราะห์ไปต่าง ๆ นานา และการวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเพราะเหตุใดสีจึงไม่เยือนไทยด้วย ทั้งที่ปีนี้ครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ซึ่งเหตุผลที่แท้จริง คนนอกยากที่จะทราบ ว่าผู้นำจีนและทีมที่ปรึกษา มีความคิดเห็นอย่างไร จะเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมือง และเรื่องวุ่นวายมากมายภายในไทยด้วยจริงหรือไม่
หากจะมองไปที่การครบรอบปีสำคัญทางการทูต เพราะปีนี้จีนและอินโดนีเซียเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ครบรอบ 75 ปี และอินโดนีเซียเป็นประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนด้วย แต่ก็ไม่ได้เป็นจุดหมายการเยือนของผู้นำจีนในครั้งนี้เหมือนกัน
แต่หากมองในมุมของบรรยากาศตึงเครียดทางการค้าที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ การเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ของผู้นำจีน น่าจะเป็นเรื่องของ “จังหวะเวลา” ขณะที่คู่แข่งเดินหน้าชนอย่างแข็งกร้าว แต่กลยุทธ์ที่ปล่อยออกมานั้น พร้อมที่จะย้อนศรกลับไปทำลายตัวเองได้ทุกเมื่อ ทั้งสามประเทศมีสิ่งที่ถือเป็น “ส่วนได้ส่วนเสีย” กับจีน ทำให้สิ่งที่จีนน่าจะต้องการทำมากที่สุดตอนนี้ อย่างน้อยคือการป้องกันและหลีกเลี่ยง “ความผิดพลาดและความขัดแย้งที่ไม่จำเป็น”
ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่สีกล่าวว่า พร้อมยืนหยัดเคียงข้างทุกประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ ในการเผชิญหน้ากับกระแสการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และการเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนการร่วมกันต่อต้านนโยบายการค้าแบบผูกขาด และการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า และ “การร่วมมือกันจะช่วยปกป้องอนาคตและความรุ่งเรือง ให้กับครอบครัวเอเชีย” เป็นหนึ่งในคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า ผู้นำจีนคาดหวังอะไรจากการเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรอบนี้.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP
————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2568
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4620946/