“สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ ‘ทำให้เร็ว’ แต่ต้องทำ ‘ให้มั่นคง’ ประเทศไทยชอบนับสิบ โดยยังไม่ได้นับหนึ่ง ปีนี้จะเป็นปีแห่งการวาง รากฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานระดับจังหวัด ครบทั้ง 76 จังหวัด แม้ข้อมูลจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ดีกว่าไม่มี และเราจะค่อยๆ พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น”
นี่คือสิ่งที่ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม หรือกรมลดโลกร้อน เน้นย้ำในงานเสวนา The Great Green Transition ที่จัดโดยธนาคารกรุงเทพ โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความยั่งยืน และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อประเทศไทย
ดร.พิรุณ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เรียกว่า Extreme Climate Events หรือ เหตุการณ์ภูมิอากาศรุนแรงสุดขั้ว ซึ่งมักมาในรูปแบบของภัยพิบัติ เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ความเสียหายเฉพาะในประเทศไทยในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท
“ความเสี่ยงของ Loss and Damage ที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคตนั้น มันไม่ใช่การเพิ่มขึ้นแบบ Linear แต่มันมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นแบบ Exponential เหมือนกับกราฟการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ถ้าในวันนี้เพิ่มขึ้น 3 เท่า อีก 5 ปีข้างหน้าอาจจะไม่ใช่แค่ 3 เท่า แต่อาจกลายเป็น 10 เท่า หรือ 15 เท่า นั่นคือ สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังเตือนเรา”
•อุณหภูมิโลกจะทะลุไปถึง 2°C
ดร.พิรุณ กล่าวด้วยว่า ลองย้อนกลับไปดูการประชุม COP28-COP29 ที่ผ่านมา แม้ทุกประเทศจะพยายามอย่างหนัก แต่เป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5°C ดูแทบจะเป็นไปไม่ได้ อุณหภูมิอาจขึ้นไปอยู่ที่ 1.9°C และโอกาสที่อุณหภูมิจะทะลุไปถึง 2°C หรือมากกว่านั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป
“90% ของนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าหากเป้าหมาย NDC (Nationally Determined Contributions) ของแต่ละประเทศทำไม่สำเร็จ ไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5°C โอกาสที่โลกจะร้อนเกิน 2°C มีสูงมาก คำถามคือ – หากเกิดขึ้นจริง แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เตือนจะไม่กลายเป็นความจริง?”
อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกตามข้อมูลจาก WMO (องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 1.75°C ภายในปี 2025 วันใดที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.75°C ต่อเนื่องทุกปี และยังคงเพิ่มสูงขึ้น เราจะเห็นภัยพิบัติที่รุนแรง และกลายเป็น New Normal ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
สิ่งที่ IPCC (คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ UNFCCC) เตือนพวกเราไว้ชัดเจนคือ หนึ่งในผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดคือ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล (Sea Level Rise) ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นปรากฏการณ์ที่ช้า แต่ตอนนี้ไม่ใช่อีกต่อไป เพราะการละลายของน้ำแข็งเกิดขึ้นเร็วขึ้นจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น คำถามคือ กรุงเทพฯ และอ่าวไทยจะรับมือไหวหรือไม่?
•น้ำท่วมในเขตอ่าวไทย
ดร.พิรุณ บอกว่า วันนี้หน่วยงานภาครัฐกำลังเริ่มศึกษาเรื่องการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล มีแผนป้องกันน้ำท่วมในเขตอ่าวไทย กำลังดูว่าหากโลกมีอุณหภูมิสูงถึง 3-4°C จะปกป้องเมืองหลวงของเราได้อย่างไร
“แต่วันนี้เรายังไม่เห็น Action ที่เป็นรูปธรรม ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนที่จะรับมือกับสิ่งที่กำลังจะมาถึง จะเลือกทำหรือไม่ทำ เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เราต้องมีข้อมูล และฐานข้อมูลเชิงนโยบาย ที่จะใช้ในการตัดสินใจอย่างรอบคอบ และนี่คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องเริ่มทำอย่างจริงจัง”
•การเปลี่ยนผ่านเป็นเรื่องสำคัญ
การ Transition ไปสู่ Green Economy ต้องการ การลงทุนอย่างมหาศาล ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมี โอกาสทางเศรษฐกิจ ที่จะสร้างการเติบโตให้กับประเทศ
“แม้ผมจะพูดบ่อยเรื่อง Mitigation (การลดการปล่อย) แต่ Adaptation (การปรับตัว) ก็ทำควบคู่กัน กรมลดโลกร้อนทำงานร่วมกับ 7 กระทรวง ซึ่งได้ลงนาม MOU ที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว และกำลังผลักดันแผนปฏิบัติการด้าน Adaptation ใน 6 สาขาหลัก ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตร และความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐาน และความมั่นคงของมนุษย์
กรมลดโลกร้อนกำลังพัฒนาระบบข้อมูลความเสี่ยงร่วมกับศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และกรมอุตุนิยมวิทยา โดยการ downscale global model ให้ละเอียดถึงระดับ 5×5 กม. เพื่อให้สามารถวางแผนระดับพื้นที่ (district-level) ได้จริง – หากดูแค่ระดับจังหวัด การบริหารจัดการจะไม่แม่นยำเพียงพอ
•เป้าหมาย Net Zero ท่ามกลางข้อจำกัด
ในยุคที่โลกร้อนกำลังเป็นความท้าทายร่วมของมนุษยชาติ การที่ประเทศไทยประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ Net Zero Emission ภายในปี 2050 อาจดูเป็นความทะเยอทะยาน แต่ในความจริง นี่คือ ‘ภารกิจที่ต้องทำ’ มากกว่าเป็นแค่ ‘ทางเลือก’ ของประเทศไทย
แม้จะมีข้อจำกัดทั้งด้านทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน และความพร้อมของภาคส่วนต่างๆ แต่ประเทศไทยได้วางแผนอย่างชัดเจน ครอบคลุมทั้งระยะสั้น และระยะยาว ด้วยเป้าหมาย และกลยุทธ์ที่สามารถวัดผลได้
ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ใน 2 ระยะสำคัญ ได้แก่
•ปี 2030 : ลด 30 – 40% จากแนวโน้มปกติ (Business As Usual – BAU) นี่คือ การลดจากค่าที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หากไม่มีมาตรการควบคุมใดๆ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบเศรษฐกิจ
•ปี 2035 : ตั้งเป้าหมายที่เจาะจงยิ่งขึ้น ลดการปล่อยจริงจากปี 2019 ที่ระดับ 379 ล้านตัน ลงมาเหลือ 270 ล้านตัน เพิ่มความสามารถในการดูดซับคาร์บอนจากป่าไม้ จาก 91 ล้านตัน → 118 ล้านตัน คงเหลือการปล่อยสุทธิ (Net Emission) ที่ 152 ล้านตัน นี่ถือเป็นการกำหนด ‘จุดกึ่งกลาง’ ในเส้นทางสู่ Net Zero ภายในปี 2050
“หนึ่งในจุดแข็งของแผนนี้คือ การมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิจัย และภาคประชาชน โดยแผนถูกออกแบบผ่านการประชุมหารือ กว่า 30 ครั้ง กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสาขาหลัก เช่น พลังงาน ขนส่ง และโลจิสติกส์ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และปศุสัตว์ การจัดการของเสีย ป่าไม้ และการใช้ที่ดิน แผนนี้จึงไม่ใช่เพียงเอกสารนโยบาย แต่คือ ‘กลไกความร่วมมือ’ ที่ยึดโยงความจริงของประเทศ และความเป็นไปได้ในการปฏิบัติจริง”
Abatement Curve เครื่องมือช่วยตัดสินใจ
ในการจัดทำเป้าหมาย NDC 2035 ของไทย ได้มีการใช้ Abatement Curve เพื่อประเมินว่า
•มาตรการไหนต้องใช้เงินรัฐเยอะ (Net Expenditure สูง) = ต้องมี Incentive/เงินอุดหนุน
•มาตรการไหนคุ้มค่าในตัวเอง (Revenue หรือ Net Benefit) = ทำได้ทันที หรือเร่งโดยรัฐได้ง่าย
“ที่ผ่านมา ‘เงินวิจัยพันล้าน’ ไม่เคยโยงกับ Climate Goals อย่างแท้จริง วันนี้เราเริ่มเปลี่ยนแล้ว โดยมีการร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สร้างกรอบโจทย์วิจัยที่เชื่อมกับแผนชาติ ผลวิจัยต้องถูกบูรณาการเข้าสู่ Climate Data Center ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ร่างพระราชบัญญัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ…. (พ.ร.บ. ลดโลกร้อน) 202 มาตรา ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งหมด 5 หมวดหลัก คือ
•นโยบาย
•การลดก๊าซเรือนกระจก
•การปรับตัวต่อผลกระทบ
•Climate Finance
•บทลงโทษ
คาดว่า พ.ร.บ. ลดโลกร้อน จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือน เมษายน 2568 นี้ หนึ่งในหัวใจสำคัญคือ กลไกทางการเงิน ที่จะเชื่อมโยงกับการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) โดยมีกองทุนภูมิอากาศ (Climate Fund) ทำหน้าที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Green Transition)
“ทางกรมลดโลกร้อนได้มีการเร่งรัดการดำเนินการอยู่ตลอด ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกรมบัญชีกลางที่รับผิดชอบเรื่อง พ.ร.บ. ทุนหมุนเวียน ซึ่งต้องมีการหารือกับกรมบัญชีกลางให้เรียบร้อยก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า พ.ร.บ. โลกร้อน จะยังไม่เข้า ครม. แต่ก็มีการดำเนินการคู่ขนานในการจัดทำโครงสร้างกฎหมายที่ เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องอื่นๆ อยู่แล้ว ส่วนความคืบหน้าของภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นของกรมสรรพสามิต ที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจร่างกายของ คณะกรรมการกฤษฎีกา และได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ไปชี้แจงแล้ว คาดว่าจะใกล้เสร็จเร็วๆ นี้
•Climate Fund กลไกการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน
สำหรับการจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศ (Climate Fund) ภายใต้ พ.ร.บ. ทุนหมุนเวียน กรมบัญชีกลางต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากการตั้งกองทุนเป็นเรื่องสำคัญ และผูกพันระยะยาว ดังนั้น กรมบัญชีกลางต้องการความมั่นใจว่าการตั้งกองทุนจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในภาพรวมอย่างแท้จริง และไม่ต้องการให้เกิดกองทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ
โดยกองทุนภูมิอากาศมีฐานะเป็นนิติบุคคล ใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินการด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง จัดสรรเป็นเงินกู้ยืมหรือให้เปล่า เพื่อการได้มาซึ่งข้อมูล การลด และใช้ประโยชน์ก๊าซเรือนกระจก หรือ GHGs การปรับตัวต่อการ เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ Climate Change การวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ เป็นค่าใช้จ่ายบริหารกองทุน และกิจกรรมอื่นๆ
“กองทุนภูมิอากาศจะสามารถสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Low-Interest Green Loans) ให้กับภาคอุตสาหกรรม ทำงานในรูปแบบ Fund of Funds เช่น สนับสนุนธนาคารที่มีโครงการ Green Loan อยู่แล้ว เช่น ธนาคารกรุงเทพ และออก Call for Proposals ที่ผูกโยงกับแผนลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และเส้นทาง Net Zero ธนาคารที่เข้าร่วมสามารถแข่งขันกันเพื่อนำเสนอแผนงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ โดยมีโอกาสได้รับ Green Premium เพิ่มเติมจากกองทุน”
เงินทุนหลักของกองทุนจะมาจาก ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องมี การรายงานข้อมูล GHG ระดับองค์กร (corporate-level reporting) ตาม Scope 1 และ Scope 2
Scope 1: การปล่อยตรง เช่น รถยนต์บริษัท บอยเลอร์ หรือระบบเผาไหม้ภายในองค์กร
Scope 2: การซื้อพลังงานจากภายนอก เช่น ไฟฟ้า ไอน้ำ
กระทรวงการคลังเพิ่ง ‘เห็นชอบด้วยวาจา’ ในหลักการของการจัดตั้ง Climate Fund ผมได้นำเสนอเรื่องนี้ร่วมกับท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยวางแผนเสนอเข้าสู่ ครม. ภายในเดือนเมษายน 2568 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการตรวจร่างกฎหมาย และส่งเข้าสู่สภาฯ เพื่อพิจารณาให้เป็นกฎหมายบังคับใช้
“ยิ่งมีกฎหมายเร็วเท่าไร ยิ่งสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคเอกชน เราสามารถออกแบบระดับความเข้มงวดของการบังคับใช้ตามบริบท และศักยภาพของประเทศได้ กฎหมายนี้จะช่วยรองรับผลกระทบจาก CBAM และมาตรการทางการค้าแบบไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) อื่นๆ”
•Emissions Trading Scheme (ETS)
“เรากำลังเตรียมการจัดตั้งระบบ การจัดสรรสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Allocation) ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับ EU แต่ ETS เราไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งใหม่เสมอไป เพียงแค่เรียนรู้จากแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) แล้วนำมาปรับให้เหมาะสมกับบริบทของไทย
แนวคิดสำคัญคือ ‘ไม่ต้อง Innovation ตลอดเวลา แค่ทำสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นก็เพียงพอ’ แต่เมื่อเราจำกัดสิทธิภาคอุตสาหกรรมในการปล่อยก๊าซ จะมีผลต่อการแข่งขัน เพราะประเทศเพื่อนบ้านอาจดัมพ์สินค้าสกปรกกว่าเข้ามาแข่งกับเราได้
จึงต้องมีมาตรการ ‘Thai CBAM’ หรือกลไกการบริหารภาษีคาร์บอนชายแดน ซึ่งจะประสานงานร่วมกับ กรมศุลกากร เพื่อเก็บค่าธรรมเนียมจากสินค้านำเข้าที่มีคาร์บอนสูง โดยค่าธรรมเนียมนี้จะนำกลับเข้าสู่กองทุนเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมของเราอีกครั้ง
•Carbon Tax
กระทรวงการคลังได้ประกาศ โครงสร้างภาษีสิ่งแวดล้อม (Environmental Tax) เฟส 2 แล้ว โดยนำเรื่อง Carbon Tax เข้ามาเพื่อสร้างการรับรู้ว่า ‘คาร์บอนมีมูลค่า’ ที่สำคัญคือ ไม่กระทบกับอัตราภาษีเดิม ถ้าบริษัทใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ก็เสียภาษีน้อยลง
หาก ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่าน จะกำหนดให้ กรมสรรพสามิต เป็นผู้จัดเก็บภาษีนี้ โดยเงินที่จัดเก็บเข้าสู่คลังนั้นจะถูกจัดสรร 10% คืนให้ท้องถิ่น โดยมีเงื่อนไขว่า ท้องถิ่นต้องนำเงินนี้ไปใช้ตามแผนลดก๊าซเรือนกระจกระดับพื้นที่ และแผนการปรับตัวที่กำหนดไว้ในระดับจังหวัด
วันนี้เราได้วางระบบรายงานข้อมูลด้านก๊าซเรือนกระจกใน 76 จังหวัด เรียบร้อยแล้ว อาจยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ดีกว่าไม่มี ปีนี้จะเป็นปีแห่งการ มาตรฐานข้อมูล (Standardization) เพราะ ‘คุณนับสิบไม่ได้ ถ้าคุณไม่เริ่มนับหนึ่ง’
•Voluntary Carbon Credit
แม้วันนี้ ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยยังอยู่ในภาคสมัครใจ แต่การนำ ETS เข้ามาใช้จริง จะสร้าง Demand ที่แท้จริง ในระบบ ทำให้มีผู้ถูกบังคับลดก๊าซที่ต้องการคาร์บอนเครดิตไป Offset
“เราจึงสามารถกำหนดได้ว่า ใครจะได้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โครงการประเภทใดจะได้รับการสนับสนุน และกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมในเชิงเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม”
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์
————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 24 เมษายน 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1177218