การใช้สายลับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหลายแห่งของโลก ทว่าไต้หวันกำลังเผชิญการสอดแนมกับจารกรรมมากเป็นพิเศษ ในห้วงที่จีนแผ่นดินใหญ่ต้องการจะผนวกไต้หวัน โดยมีข้อสังเกตว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีคนถูกจับกุมข้อหาเป็นสายลับให้จีนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ทหารที่ทำงานในทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันและเกี่ยวข้องกับข่าวกรอง โดยจีนใช้ทั้งองค์กรอาชญากรรรม องค์กรศาสนา และพื้นที่ออนไลน์ในจารกรรมข้อมูลไต้หวัน โดยเป้าหมายมีทั้งนายทหารเกษียณ นักร้อง อินฟลูเอนเซอร์ และนักการเมืองในไต้หวัน
โดย “ไล่ชิงเต๋อ” ประธานาธิบดีไต้หวัน เสนอมาตรการต่อต้านการจารกรรมและแทรกซึมของจีน รวมทั้งนำศาลทหารกลับมาใช้แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในช่วงสงคราม ซึ่งเรื่องหลังนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวเพราะไต้หวันเคยอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี
ประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อแห่งไต้หวัน ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจการฝึกเตรียมความพร้อมรบฉุกเฉินกำลังพลที่สอง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 ทั้งนี้นอกจากภัยคุกคามทางทหาร ไต้หวันยังเผชิญการแทรกซึมจากแผ่นดินใหญ่เพิ่มมากขึ้น สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติไต้หวันระบุว่าในปี 2567 มีคนที่ถูกดำเนินคดีข้อหาเป็นสายลับให้กับจีน 64 ราย เมื่อเทียบกับปี 2566 อยู่ที่ 48 ราย และในปี 2565 อยู่ที่ 10 ราย (ที่มาภาพ: Flickr/Wang Yu Ching / Office of the President)
ถึงแม้ว่าจีนและไต้หวันต่างก็ทำการใช้สายลับสอดแนมจารกรรมกันและกันมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญก็มองว่าในปัจจุบันไต้หวันเผชิญความเสี่ยงจากภัยคุกคามเรื่องการจารกรรมมากกว่าเดิม
จากกรณีตัวอย่างล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ศาลไต้หวันได้ตัดสินลงโทษจำคุกสูงสุด 7 ปีกับอดีตทหาร 4 นาย ในข้อหาขายความลับของชาติให้กับจีน ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ 3 นาย ที่เคยทำงานด้านการรักษาความปลอดภัยให้กับอาคารทำเนียบประธานาธิบดีด้วย ส่วนอีกหนึ่งรายรับราชการในศูนย์บัญชาการด้านข้อมูล การสื่อสาร และอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงกลาโหม
นอกจากนี้ยังมีการสั่งยึดทรัพย์อดีตทหารเหล่านี้เป็นมูลค่าตั้งแต่ 265,900-664,100 ดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 270,000-680,000 บาท) มีการปลดทหารเหล่านี้ในตอนที่มีการสืบสวนจากอัยการและมีนายหนึ่งที่ถูกสั่งพักราชการตอนที่เขาถูกคุมขัง
อัยการระบุว่าเมื่อปลายปี 2564 จนถึงต้นปี 2565 ทหาร 2 นาย ได้เข้าร่วมแผนการของสายลับจีน “แซ่หวง” และในเดือน เมษายน 2565 ก็มีการถ่ายภาพเอกสารลับส่งต่อให้กับผู้ร่วมแผนการรายอื่นและให้กับสายลับจีน จากนั้นในปี 2566 ก็เริ่มมีการถามหาว่ามีเพื่อนทหารนายอื่นๆ คนไหนที่อยากเป็นสายลับเพื่อแลกกับค่าตอบแทนจากจีนหรือไม่
ทหาร 4 นายนี้ถูกดำเนินคดีจากสำนักงานอัยการกรุงไทเป ในข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เนื่องจากพวกเขารับสินบน และข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเพราะได้เก็บข้อมูลความลับของประเทศส่งให้กับจีน
ไต้หวันเผชิญการแทรกซึมจากจีนมากเป็นพิเศษ
จีนหรือสาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ขณะที่ไต้หวันหรือสาธารณรัฐจีนมองตัวเองเป็นประเทศอิสระที่มีอธิปไตยของตัวเอง ทำให้จีนพยายามหาวิธีการผนวกรวมไต้หวันเป็นของตัวเองและแม้กระทั่งขู่ว่าจะใช้กำลังถ้าจำเป็น
แต่ไม่เพียงแค่การซ้อมรบใกล้กับไต้หวันเพื่อข่มขู่และแสดงแสนยานุภาพตัวเองเท่านั้น จีนยังใช้วิธีการจารกรรมหรือใช้สายลับสอดแนมด้วย หน่วยงานข่าวกรองไต้หวันระบุว่าจีนใช้ “ช่องทางและยุทธวิธีหลายด้าน” ในการแทรกซึมไต้หวันทั้งในทางการทหาร ในรัฐบาล และองค์กรที่ส่งเสริมจีน
ถึงแม้ว่าปฏิบัติการของสายลับในการจารกรรมหรือสอดแนม จะเป็นสิ่งที่กระทำโดยรัฐบาลทุกหนแห่งทั่วโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่าสำหรับไต้หวันนั้นกำลังเผชิญกับภัยคุกคามในด้านนี้มากเป็นพิเศษ
ปีเตอร์ แมททิส ประธานมูลนิธิเจมส์ทาวน์ ผู้ที่เคยเป็นนักวิเคราะห์หน่วยต่อต้านข่าวกรองของซีไอเอ กล่าวว่า ถึงแม้ในโลกเราจะมีการจารกรรมหรือสอดแนมเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีการกระทำในระดับที่มากเท่าที่จีนกระทำต่อไต้หวัน ซึ่งมาพร้อมกับเจตนาร้าย และมีเป้าหมายสุดท้ายคือการผนวกรวมประเทศ ทำให้เรื่องนี้ต่างจากปฏิบัติการจารกรรมและสอดแนมทั่วไป เพราะมันส่งผลถึงการอยู่รอดของไต้หวันในฐานะประเทศๆ หนึ่ง
มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีคนที่ถูกดำเนินคดีในไต้หวันในข้อหาเป็นสายลับให้กับจีนเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติไต้หวันระบุว่าในปี 2567 ปีเดียว มีคนที่ถูกดำเนินคดีข้อหาเป็นสายลับให้กับจีน 64 ราย เมื่อเทียบกับปี 2566 อยู่ที่ 48 ราย และในปี 2565 อยู่ที่ 10 ราย
ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นสายลับให้จีนในปี 2567 นั้น มีอยู่ 15 นาย ที่เป็นทหารผ่านศึก และมีอยู่ 28 นาย ที่เป็นทหารซึ่งยังคงประจำการอยู่ในช่วงก่อเหตุ บุคคลเหล่านี้มีผู้ที่ต้องโทษสูงสุด 20 ปี
สิงไท่เจา อัยการสูงสุดของไต้หวันกล่าวว่า มีการดำเนินคดีต่อข้าราชการทหารที่ละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ “ค่อนข้างสูง” ในช่วงที่ผ่านมา นั่นเป็นเพราะว่า มีการใช้มาตรฐานที่เข้มงวดมากกว่ากับกองทัพ เนื่องจากกองทัพมีหน้าที่คุ้มครองความมั่นคงในชาติและสามารถเข้าถึงอาวุธได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนพลเรือนจะไม่มีคนที่กระทำการเป็นสายลับให้จีนเลย แต่ก็มีความแตกต่างตรงที่ว่า อาจจะมีบางการกระทำที่ไม่ได้เข้าข่ายผิดกฎหมายถ้าหากพลเรือนเป็นผู้กระทำ
จีนใช้วิธีไหนในการจารกรรมไต้หวัน
ไต้หวันกับจีน เป็นประเทศที่ใช้ภาษาเดียวกันถึงแม้ว่าจะในรูปแบบต่างกันไปบ้าง พวกเขาจึงเคยมีประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนทางการเมือง, ทางวัฒนธรรม และทางการศึกษา ทำให้จีนฉวยโอกาสช่วงที่มีการแลกเปลี่ยนนี้ในการบ่มเพาะสายลับ
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการแลกเปลี่ยนเหล่านี้ก็ถดถอยลงเนื่องจากความตึงเครียดระหว่างสองพื้นที่ รวมถึงผลพวงจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ก็ทำให้จีนหาวิธีการใหม่ในการแทรกซึมไต้หวัน
จีนได้ใช้ทั้งอาชญากร, องค์กรศาสนา และพื้นที่ออนไลน์ ในการเก็บข้อมูลของไต้หวัน โดยอาศัยเงินเป็นสิ่งล่อใจหรือแม้กระทั่งใช้โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในการหลอกล่อให้ผู้คนในไต้หวันเป็นสายลับให้จีน
มีการใช้ธนาคารนอกระบบให้เงินกู้ยืมแก่คนที่ประสบปัญหาด้านการเงินจากนั้นก็อาศัยหนี้ของบุคคลเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือต่อรองว่าจะต้องให้ข้อมูลของไต้หวันแก่พวกเขาถึงจะยอมปลดหนี้ให้ นอกจากนี้ยังมีการเกณฑ์สายลับแม้กระทั่งจากในเกมออนไลน์
ข้อมูลที่ทางการจีนมักจะขอจากสายลับในไต้หวัน คือขอข้อมูลข่าวกรองทางการทหาร เช่นเรื่องที่ว่ามีฐานทัพอยู่ที่ไหน มีคลังแสงที่ไหน หรือแม้กระทั่งชวนจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธภายในไต้หวัน
หน่วยข่าวกรองไต้หวันเปิดเผยว่า จีนได้ใช้ “พวกแก๊งอาชญากรมุ่งเป้ามายังทหารที่เกษียณอายุแล้ว เพื่อที่จะให้ช่วยจัดตั้งอดีตเพื่อนทหารของพวกเขาให้เป็น ‘ทีมสไนเปอร์’ แล้วก็วางแผนปฏิบัติการสไนเปอร์ต่อหน่วยงานทหารของไต้หวัน หรือ กับสถานทูตของต่างชาติ”
นอกจากนี้ พูมา เฉิน สส. พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า DPP ยังเปิดเผยว่า จีนได้ทำการบีบเค้นให้นักร้อง, อินฟลูเอนเซอร์โซเชียลมีเดีย และนักการเมืองในไต้หวัน ให้ทำในสิ่งที่จีนต้องการในเรื่องต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการ แพร่กระจายข่าวเท็จ การแสดงความคิดเห็นสนับสนุนจีน หรือการเก็บข้อมูลของประเทศไต้หวันส่งให้จีน
เฉินเป็นคนที่ศึกษาเรื่องปฏิบัติการแผ่อิทธิพลของจีน และในปี 2567 เขาก็ถูกทางการจีนคว่ำบาตรในข้อหา “แบ่งแยกดินแดน” เฉินบอกว่าเครือข่ายสายลับจีนนั้นกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเขามองว่าวัตถุประสงค์ของปฏิบัติการจากจีนนั้นไม่ใช่แค่การบั่นทอนการป้องกันประเทศของไต้หวันเท่านั้น แต่ยังเป็นการบั่นทอนระบอบประชาธิปไตยทั้งระบอบในไต้หวันด้วย
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและรัฐบาลไต้หวันรับรู้เรื่องภัยการจารกรรม-แทรกซึมของจีนที่เพิ่มขึ้น
เมื่อเดือน มีนาคม ที่ผ่านมา สถาบันโกลบอลไต้หวัน GTI ซึ่งมีฐานอยู่ในสหรัฐฯ ได้เตือนว่าไต้หวันกำลังเผชิญกับภัยคุกคามการจารกรรมจากจีนมากขึ้น และเรียกร้องให้รัฐบาลไต้หวันทำการลงโทษหนักกว่าเดิมต่อผู้ที่กระทำผิด
รายงานของ GTI ที่ชื่อว่า “ปฏิบัติการลับของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อไต้หวัน” ระบุว่า ไม่มีประเทศประชาธิปไตยประเทศไหนเลยที่เผชิญกับภัยคุกคามจากต่างชาติที่มีต่อบูรณภาพและอธิปไตยของชาติมากเท่าไต้หวัน ปฏิบัติการด้านอิทธิพลจากจีนจะส่งผลเลวร้ายต่อทั้งความมั่นคงและประชาธิปไตยในไต้หวัน
GTI ระบุว่า นอกจากปฏิบัติการด้านข่าวกรองแล้ว การจารกรรมของจีนยังมีปฏิบัติการด้านไซเบอร์สเปซ และปฏิบัติการสร้างอิทธิพลกับชาวจีนโพ้นทะเลด้วย
นอกเหนือจากการเพิ่มโทษแล้ว GTI ยังเสนอแนวทางแก้ไขว่า ให้ไต้หวันเรียนรู้เค้าโครงกฎหมายแบบสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เพื่อปรับเปลี่ยนให้องค์กรต่างชาติต้องรายงานกิจกรรมของพวกเขาและความเกี่ยวข้องของพวกเขากับประเทศหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสด้วย
ไล่ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีไต้หวันจากพรรค DPP ได้แถลงเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาว่าจีนเป็น “กำลังต่างชาติที่เป็นปฏิปักษ์” และเสนอมาตรการต่อต้านการจารกรรมและแทรกซึมของจีน เช่น เสนอให้มีความโปร่งใสมากขึ้นในการแลกเปลี่ยนระหว่างสองดินแดน มีการนำการดำเนินคดีแบบทหารกลับมาใช้แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในช่วงสงคราม ซึ่งเรื่องหลังนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวในไต้หวัน เพราะไต้หวันเคยอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งมีการปราบปรามผู้คนอย่างโหดร้ายโดยมีการยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อปี 2534
จากผลโพลเมื่อไม่นานนี้ระบุว่า ประชาชนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่อยากรวมชาติกับจีน ทว่านักวิชาการก็มองว่าควรจะมีการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในเรื่องการจารกรรมจากจีนด้วย จาคุบ จันดา จากองค์กรคลังสมองชื่อศูนย์ค่านิยมยุโรปเพื่อนโยบายความมั่นคงในไทเปกล่าวว่า ควรจะสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้และทำให้เกิดมุมมองว่าการทรยศชาติเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ ถ้าหากสังคมอยู่ในความรู้สึกแบบนี้แล้ว มันก็เป็นเรื่องยากขึ้นที่หน่วยข่าวกรองจีนจะเกณฑ์คนไปทำงานด้วย
เรียบเรียงจาก
Taiwan sees threefold surge in suspected Chinese espionage cases, CNN, 13-01-2025
U.S. think tank warns of growing Chinese espionage threat to Taiwan, Focus Taiwan, 24-03-2025
Four former soldiers sentenced for espionage, Taipei Times, 27-03-2025
Taiwan’s existential battle against Chinese spies, HKFP, 29-03-2025
————————————————————————————————–
ที่มา :prachatai / วันที่เผยแพร่ 8 เมษายน 2568
Link : https://prachatai.com/journal/2025/04/112564