การแข่งขันนี้เปรียบเสมือนการแข่งขันเอาชนะครองโลกในด้าน AI ระหว่างสหรัฐอเมริกาที่เป็นทีมนำอยู่ในตอนแรก และจีนคือทีมหลังที่ไล่มาจนทันและดูเหมือนจะชนะเอาด้วยหากต่อเวลาไปอีก
คนในโลกบ้าคลั่ง AI ตลอดเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา ผลงานที่โดดเด่นล้วนมาจากค่ายสหรัฐ เช่น GPT และ CODEX (ของบริษัท OpenAI) Gemini และ Wave Net (ของ Google) MAI-1 และ Copilot (ของ Microsoft) Olympus (ของ Amazon) ฯลฯ ค่ายยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น โดยเฉพาะจีนนั้นเรียกได้ว่าไม่ดังเท่า
แต่แล้วจู่ๆ ในเดือน ม.ค.ต้นปี 2568 บริษัทจีนชื่อ DeepSeek ก็ปล่อย AI ชื่อ DeepSeek-V3 ออกมาและตามมาด้วย DeepSeek-R1 ในเวลาอีก 10 วันต่อมาคือ 20 ม.ค.2568 จนโลกตะลึงเพราะใช้งานได้ดีไม่ต่างจาก AI ลักษณะเดียวกันเช่น GPT ซึ่งผลิตออกมาเป็นซีรีส์ แต่ที่ตกใจก็เพราะผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าโมเดลของสหรัฐหลายเท่าตัว
ความจริงนี้สร้างความปั่นป่วนให้แก่ราคาหุ้นของบริษัทผลิต AI เเละธุรกิจอื่นที่เกี่ยวพัน เพราะอุปมาเหมือนกับมีร้านก๋วยเตี๋ยวใหม่ที่ขายก๋วยเตี๋ยวเหมือนกันแต่ราคาถูกกว่า 2 เท่าขึ้นไป อย่างนี้ร้านเก่าจะไม่หวั่นไหวได้อย่างไร
ที่จริงโลกรู้จักสตาร์ตอัปของจีนที่ชื่อว่า DeepSeek ที่มีผู้ก่อตั้งคือคนจีนชื่อ Liang Wenfeng ตั้งแต่เมื่อเดือน ธ.ค.2566 แล้ว เมื่อปล่อย AI ที่เป็นโมเดลด้านภาษาขนาดใหญ่ในปี 2567
อย่างไรก็ดีไม่มีข่าวเล็ดลอดมาว่ากำลังจะทำอะไรใหญ่โตจนกระทั่งระเบิดตูมตามออกมาในเดือน ม.ค. ดังที่กล่าวมา ไม่แน่ใจว่าตั้งใจให้ตรงกับช่วงเวลาที่ Trump สาบานตนเป็นประธานาธิบดีเพื่อท้าทายหรือไม่
DeepSeek-V3 เป็น AI ที่ใช้ได้ในหลายภาษา ช่วยเหลือด้านภาษา เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คำนวณด้านคณิตศาสตร์ ส่วน DeepSeek-R1 นั้นเน้นความสามารถด้านการใช้เหตุผลเหมือนมนุษย์ ไม่ว่าในด้านตรรกวิทยา ด้านคณิตศาสตร์ ด้านการแก้ไขปัญหาแบบเรียลไทม์ ฯลฯ
โมเดล R-1 ทำงานได้ไม่แพ้ OpenAI ในเวอร์ชันแรกๆ จุดเด่นก็คือเป็นซอฟต์แวร์เเบบ open source ซึ่งหมายถึงใครก็สามารถเข้าไปใช้ได้ (ไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไข เช่น จ่ายเงิน) ใครก็สามารถนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับงานที่ตนเองทำได้
และเมื่อปรับปรุงแล้วก็ยังนำมาแชร์กันได้อีก สามารถมองเห็นได้ว่าระบบทำงานอย่างไร สามารถเห็นโปรแกรมที่เขียนว่ามีความเสี่ยงจากการแอบมีจุดอ่อนไว้เพื่อหาประโยชน์ในภายหลัง
ที่โดดเด่นมากของ DeepSeek AI ของจีนก็คือใช้เงินน้อยกว่ามากในการพัฒนา AI ลักษณะเดียวกันเเละขนาดใกล้เคียงกัน เช่น โมเดลของ META ใช้เงินหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ DeepSeek ใช้เงินต่ำกว่าหกล้านเหรียญ หรือต่ำกว่าประมาณ 2 เท่าขึ้นไป
ยิ่งไปกว่านั้น AI จีนใช้ชิปชั้นรองลงมาด้วยจำนวนที่น้อยกว่าอีกด้วย กล่าวคือโมเดลของ META ใช้ชิปชั้นเลิศ 16,000 ตัว ในขณะที่ DeepSeek ใช้ชิปชั้นรองลงมาด้วยจำนวน 2,010 ตัวเท่านั้น การเปิดตัวของ DeepSeek ในลักษณะนี้คล้ายกับตบหน้าสหรัฐที่พยายามกีดกันไม่ให้จีนสามารถซื้อชิปชั้นเลิศ ไม่ให้ได้รับเทคโนโลยีผลิตชิปชั้นเลิศ อีกทั้งห้ามมิให้ขายเครื่องมือ อุปกรณ์ วัตถุดิบ ให้แก่จีนเพื่อการผลิตชิปชั้นเลิศ
อย่างไรก็ดี จีนแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะกลั่นแกล้งอย่างไรเพื่อมิให้จีนแซงหน้าได้ ก็สามารถมีนวัตกรรมที่ใช้ชิปชั้นรองได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง
ถึงแม้ในตอนแรกสหรัฐดูจะนำหน้าจีนในเรื่อง AI ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีไปอย่างมากแต่ปัจจุบันเห็นแล้วว่ากำลังไล่ตามมาอย่างแรง หรืออาจล้ำหน้าไปแล้วก็ได้หากคำนึงถึงการใช้ชิปซึ่งไม่ใช่สุดยอดของประดิษฐกรรมในปัจจุบันในการผลิต AI ซึ่งทำงานไม่แตกต่างกันแต่ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ากันมาก
ผู้เขียนได้เข้าไปใช้แอปพลิเคชัน DeepSeek ซึ่งฟรีโดยถามคำตอบและตอบโต้กันด้วยภาษาไทย มันสามารถตอบคำถามที่ใช้ความคิดและเหตุผลได้ดีพอควร (“ทำไมไทยไม่เสียเอกราชตกเป็นประเทศอาณานิคม”) แต่ยังแปลอังกฤษเป็นไทย และกลับกันไม่ได้ คิดว่าในเวลาอีกไม่นานคงจะพัฒนาเช่นเดียวกับโมเดลของ GPT
สื่อต่างประเทศเรียกการเปิดตัวของ DeepSeek AI เรื่องนี้ว่าเป็น “Sputnik Moment” ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ในปี 2500 ที่สหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียมไปนอกโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
คนอเมริกันรู้สึกช็อกที่ถูกแซงหน้าจนเกิดความรู้สึกว่าต้องลงมือกระทำทันทีอย่างรอไม่ได้หากจะอยู่ในการแข่งขันด้วย นั่นก็คือการเกิดองค์การ NASA จนชนะสามารถเหยียบดวงจันทร์ได้ในปี 2512
Liang Wenfeng ผู้ตั้งบริษัท DeepSeek ผู้ปลุก “Sputnik Moment” เกิดในปี 2528 ในมณฑลกวางตุ้ง จบวิศวะ IT จาก Zhejiang University เขาตั้งบริษัท Hedge Fund ในปี 2558 และได้ใช้ AI ช่วยในการค้าหุ้นจนมีเงินพอมาตั้งบริษัท และใช้เป็นทุนในการวิจัย เขาสะสมชิป Nvidia GPU ไว้ถึง 10,000 หน่วย เพื่อใช้ในการสร้างโมเดล AI จนสำเร็จ
Wenfeng ผู้ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงในวัยเพียง 40 ปี ไม่ต้องการเป็นคนเด่นดัง เขาบอกว่าจุดประสงค์ของเขาในการสร้าง AI เช่นนี้ขึ้นมา “มิใช่เพื่อเสียเงิน หรือได้กำไรมหาศาล หากต้องการอยู่แถวหน้าของเทคโนโลยีและส่งเสริมระบบนิเวศทั้งหมด”
บริษัทเล็กๆ ของเขาตัดหน้า 4 ยักษ์ใหญ่ของจีนคือ Baidu, Alibaba, Tencent และ Xiaomi ต่อนี้ไป AI ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างผลิตภาพไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินทุนมหาศาลอีกต่อไปประเทศเล็กๆ ก็มีโอกาสสร้างเองได้
AI น่าจะเป็นตัวเปลี่ยนชีวิตของมนุษยชาติในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลกเมื่อ 265 ปีก่อน แต่ก็ไม่อาจวางใจได้ถ้ามนุษย์ไม่สามารถกำกับควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผู้บอกว่า “เทคโนโลยีคือคนรับใช้ที่มีประโยชน์ แต่เป็นนายที่อันตราย”
BY ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 11 กุมภาพันธ์ 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/tech/gadget/1166076