แหล่งข่าววงในสองรายเผย จอร์แดนทลายแผนการต้องสงสัยนำโดยอิหร่าน เล็งขนอาวุธเข้าประเทศมาช่วยฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกษัตริย์ก่อเหตุวินาศกรรมท่ามกลางสงครามในกาซา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างข้อมูลวงในชาวจอร์แดนสองรายว่า อาวุธดังกล่าวถูกส่งมาโดยกลุ่มติดอาวุธในซีเรียที่มีอิหร่านหนุนหลัง ให้กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในจอร์แดนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายทหารของกลุ่มฮามาส อาวุธถูกยึดได้เมื่อสมาชิกกลุ่มซึ่งเป็นชาวจอร์แดนเชื้อสายปาเลสไตน์ถูกจับกุมเมื่อปลายเดือน มี.ค.
รอยเตอร์รายงานข่าวนี้เป็นที่แรก ในช่วงที่ความตึงเครียดในตะวันออกกลางสูงมาก เมื่ออิสราเอลที่มีสหรัฐหนุนหลังทำสงครามในกาซากับฮามาส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน “อักษะแห่งการต่อต้าน” ของอิหร่าน เครือข่ายกลุ่มตัวแทนที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้วเพื่อต่อต้านอิสราเอล
แหล่งข่าวไม่ได้เผยว่า การวางแผนที่ถูกกล่าวหาเป็นการก่อวินาศกรรมประเภทใด อ้างว่ายังอยู่ระหว่างการสอบสวนและเป็นปฏิบัติการลับ กล่าวเพียงว่าแผนการมีเป้าหมายบั่นทอนเสถียรภาพจอร์แดน ประเทศที่อาจกลายเป็นจุดเดือดในภูมิภาคท่ามกลางวิกฤติกาซา เนื่องจากเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐ และมีชายแดนติดกับอิสราเอล ซีเรีย และอิรัก ที่มีกลุ่มติดอาวุธอิหร่านหนุนหลังอยู่ในประเทศ
แหล่งข่าวไม่ได้บอกชนิดอาวุธที่ถูกบุกยึดได้ในเดือน มี.ค. แต่ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงได้ขัดขวางความพยายามของอิหร่านและกลุ่มพันธมิตรลักลอบขนอาวุธหลายครั้ง เช่น ทุ่นระเบิดเคลย์มอร์, ระเบิดซีโฟร์และเซมเท็กซ์, ไรเฟิลคาลาชนิคอฟ และจรวดคัตยูชา ขนาด 107 มม.
อาวุธที่ลักลอบเข้ามาส่วนใหญ่มุ่งหน้าไปยังเขตเวสต์แบงก์ ดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลยึดครอง กระนั้น อาวุธจำนวนหนึ่งรวมทั้งที่ยึดได้ในเดือน มี.ค. เครือข่ายภราดรภาพมุสลิมพันธมิตรฮามาสตั้งใจนำมาใช้ในจอร์แดน
“พวกเขาซ่อนอาวุธเหล่านี้ไว้ในหลุมเรียกว่าจุดตาย ระบุที่ตั้งผ่านจีพีเอสแล้วถ่ายรูปโลเคชั่นไว้ จากนั้นบอกให้คนมาเอาออกไป” แหล่งข่าวรายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รู้เรื่องความมั่นคงดีอธิบาย
ทั้งนี้ กลุ่มภราดรภาพมุสลิมขบวนการนิยมอิสลามข้ามชาติที่ฮามาสแตกตัวออกมา ก่อตั้งขึ้นในทศวรรษ 1980 กลุ่มกล่าวว่าไม่ใช้ความรุนแรง และภราดรภาพมุสลิมในจอร์แดนปฏิบัติการอย่างถูกกฎหมายในประเทศนี้มาหลายสิบปีแล้ว
ทางการจอร์แดนเชื่อว่า อิหร่านและกลุ่มพันธมิตรอย่างฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน กำลังพยายามหาสมาชิกหนุ่มหัวรุนแรงเข้ากลุ่มภราดรภาพในจอร์แดน เพื่อทำงานต่อต้านอิสราเอลและสหรัฐ ขยายเครือข่ายกองกำลังพันธมิตรของรัฐบาลเตหะรานในภูมิภาคนี้
ด้านตัวแทนอาวุโสรายหนึ่งของภราดรภาพมุสลิมจอร์แดนยืนยันว่า สมาชิกบางส่วนถูกจับกุมในเดือน มี.ค. โทษฐานครอบครองอาวุธ แต่กลุ่มไม่ได้เห็นชอบกับสิ่งที่พวกเขาทำ ส่วนตัวเขาสงสัยว่าอาวุธที่ลอบขนเข้ามาน่าจะนำเข้าไปเวสต์แบงก์มากกว่าใช้งานในจอร์แดน
“มีการพูดคุยกันระหว่างภราดรภาพกับทางการ พวกเขารู้ดีว่าถ้ามีการกระทำความผิดก็ไม่ใช่เป็นกลุ่มภราดรภาพมุสลิม เป็นเรื่องส่วนบุคคล และไม่ใช่นโยบายของภราดรภาพ” ตัวแทนอธิบาย
เจ้าหน้าที่อาวุโสของภราดรภาพอีกคนหนึ่ง เผยกับรอยเตอร์ว่า สมาชิกในเครือข่ายที่โดนจับรับเข้ามาโดยซาเลห์ อัล อารูรี หัวหน้าฮามาส ผู้บงการการปฏิบัติการของฮามาสในเวสต์แบงก์จากเลบานอน อารูรีถูกโดรนโจมตีเสียชีวิตในกรุงเบรุตเมื่อเดือน ม.ค. ที่ถูกมองว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล
โฆษกรัฐบาลจอร์แดนและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐไม่ได้ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ กระทรวงการต่างประเทศอิหร่านไม่พร้อมให้ความเห็น สำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอลและกระทรวงต่างประเทศอิสราเอลยังไม่ให้ความเห็น
ตลอดปีที่ผ่านมา จอร์แดนกล่าวว่า ทลายความพยายามของผู้ก่อเหตุเชื่อมโยงกับกลุ่มติดอาวุธโปรอิหร่านในซีเรียมาแล้วหลายครั้ง คนเหล่านี้นำเครื่องยิงจรวดและระเบิดข้ามพรมแดนเข้ามา อาวุธบางชนิดเข้ามาได้โดยไม่ถูกตรวจจับ ด้านอิหร่านปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังความพยายามดังกล่าว
กษัตริย์จอร์แดนบนเส้นลวด
ประชากรจอร์แดนส่วนใหญ่จาก 11 ล้านคนมีเชื้อสายปาเลสไตน์ เนื่องจากจอร์แดนรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์หลายล้านคนในช่วงแรกๆ ของการก่อตั้งอิสราเอล วิกฤติกาซาผลักให้พระองค์ตกที่นั่งลำบาก ต้องพยายามสนบสนุนชาวปาเลสไตน์ให้สอดคล้องกับสหรัฐที่เป็นพันธมิตรกันมานานและอิสราเอลที่จอร์แดนยอมรับมาหลายสิบปี
สงครามสร้างความไม่พอใจให้สาธารณชนอย่างมาก พากันลงถนนและเรียกร้องให้ตัดสัมพันธ์กับอิสราเอล
เดือนก่อนหลังจากจอร์แดนร่วมกับพันธมิตรนำโดยสหรัฐช่วยอิสราเอลสกัดโดรนและขีปนาวุธที่อิหร่านยิงเข้ามา นักวิจารณ์โพสต์ภาพล้อเลียนบนโซเชียลมีเดีย กษัตริย์ถูกพันด้วยธงอิสราเอลพร้อมความเห็น อาทิ “คนทรยศ” และ “หุ่นเชิดตะวันตก”
บัสซัม บาดารี นักข่าวจอร์แดนกล่าวว่า ความไม่ลงรอยกันระหว่างจุดยืนรัฐบาลกับความรู้สึกของสาธารณชนไม่เคยชัดเจนเท่านี้มาก่อนหลังเกิดเหตุยิงโดรน
“มีความไม่พอใจ จอร์แดนเคยมีประสบการณ์ในการรักษาระยะห่างกับทุกประเทศในภูมิภาคเท่าๆ กัน แต่การเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้จอร์แดนได้เอาตัวเองไปผูกกับฝ่ายอเมริกัน”
นักการเมืองจอร์แดนสองคนเผยว่า สิ่งที่ทำให้กษัตริย์อับดุลลาห์ทรงวิตกมากยิ่งขึ้นไปอีกคือ ความตึงเครียดกับภราดรภาพสร้างความเสี่ยงได้เช่นกัน กลุ่มนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในจอร์แดน
ทางการจอร์แดนไม่เปิดเผยเรื่องแผนลักลอบขนอาวุธและการจับกุมต่อสาธารณะ แหล่งข่าววงในชาวจอร์แดนหนึ่งในสองคนเผยว่า หน่วยข่าวกรองเรียกเจ้าหน้าที่อาวุโสของภราดรภาพ 10 คนมาแจ้งว่า ทางการได้จับกุมสมาชิกเครือข่ายที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างภราดรภาพกับฮามาส
จอร์แดนไม่ใช่รัฐปาเลสไตน์ทางเลือก
ซาอุด อัล ชาราฟัต อดีตนายทหารในหน่วยข่าวกรองจอร์แดนกล่าวว่า การตัดสินใจของจอร์แดนเข้าร่วมกับมหาอำนาจตะวันตกยิงสกัดโดรนอิหร่านมุ่งหน้าอิสราเอล ส่วนหนึ่งมาจากความกลัวของเจ้าหน้าที่ว่า จอร์แดนอาจถูกดึงเข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์ต้านอิสราเอลของอิหร่าน
“อิหร่านสั่งให้รับสมัครชาวจอร์แดน แล้วใช้ตัวแทนเหล่านี้แทรกซึมเข้ามาในพื้นที่ ความพยายามรับสมัครสมาชิกขยายไปในทุกภาคส่วนของสังคม”
เจ้าหน้าที่และนักการทูตหลายรายในภูมิภาคกล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งแรงจูงใจของจอร์แดนคือการโจมตีฐานทัพสหรัฐในจอร์แดนแบบไม่ทันตั้งตัวในเดือน ม.ค.ฝีมือของกลุ่มพันธมิตรอิหร่านในอิรัก เป็นเหตุให้ทหารสหรัฐเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 40 นาย มีรายงานว่าเป็นการโจมตีเพื่อสนับสนุนฮามาสที่กำลังทำสงครามกับอิสราเอล
นักการทูตผู้ใกล้ชิดกับรัฐบาลเตหะรานรายหนึ่งเผยว่า ความตั้งใจอันสูงส่งของอิหร่านในการตั้งกลุ่มตัวแทนในจอร์แดนมีมาตั้งแต่สมัยนายพลกัสเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน ผู้ถูกสหรัฐลอบสังหารในปี 2563
โซไลมานีเชื่อว่า เนื่องจากสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างจอร์แดนกับสหรัฐและชาติตะวันตก การสร้างกลุ่มพันธมิตรที่มีขีดความสามารถในการต่อสู้กับอิสราเองจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการมีอำนาจเหนือทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเตหะรานในภูมิภาคนี้
ความเป็นปรปักษ์ระหว่างอิหร่านกับจอร์แดนนับย้อนไปถึงปี 2004 หลังกองกำลังพันธมิตรนำโดยสหรัฐรุกรานอิรัก ตอนที่กษัตริย์อับดุลลาห์ทรงกล่าวหาอิหร่านพยายามสร้าง “เสี้ยววงเดือนชีอะห์เพื่อขยายอำนาจในภูมิภาค”
กษัตริย์อับดุลลาห์ทรงชี้แจงว่า การยิงโดรนที่มุ่งหน้าไปอิสราเอลก็เพื่อปกป้องตัวเอง ไม่ได้กระทำในนามของอิสราเอล พร้อมเตือนว่า “จอร์แดนจะไม่กลายเป็นสมรภูมิให้กับฝ่ายใด ๆ”
การแทรกแซงทางทหารยังมีเป้าหมายส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลว่า จอร์แดนเป็นเขตกันชนสำคัญยิ่งสำหรับความมั่นคงของภูมิภาค
กษัตริย์จอร์แดนทรงสนับสนุนการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ ขณะเดียวกันนักการเมืองฝ่ายขวาบางคนในอิสราเอลจินตนาการไปว่าจอร์แดนกำลังกลายเป็นรัฐปาเลสไตน์ทางเลือก ซึ่งกษัตริย์อับดุลลาห์ทรงย้ำเสมอมาว่า นี่ไม่ใช่ “ตัวเลือกของจอร์แดน”
“จุดยืนทางการคือแนวทางสองรัฐ ที่ไม่ได้มีประโยชน์กับชาวปาเลสไตน์เท่านั้น แต่ยังเป็นผลประโยชน์กับจอร์แดนด้วยเพราะจะเป็นการตั้งรัฐปาเลสไตน์บนแผ่นดินปาเลสไตน์แทนที่จะตั้งรัฐบนแผ่นดินจอร์แดน” มาร์วัน เมาเชอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศจอร์แดน ขณะนี้เป็นรองประธานมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ กลุ่มคลังสมองในวอชิงตันให้ความเห็น
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 14 พ.ค.67
Link :https://www.bangkokbiznews.com/world/1126974